• การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนต้องใช้นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ต้องมีการทบทวนทางเลือกเชิงกลยุทธ์ทั้งหมด รวมถึงกระบวนการใหม่และรูปแบบองค์กรที่สามารถประยุกต์ใช้หลักการปฏิบัติงานของการหมุนเวียนให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
  • วิกฤตการณ์ต่าง ๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ราคาพลังงานสูงขึ้น และการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ก่อให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้นในทันที แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจในระยะสั้น และมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะแสวงหาการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูป อย่างไรก็ตาม SMEs อาจประสบปัญหาอุปสรรคทางโครงสร้างที่ทำให้การนำนวัตกรรมมาใช้ช้าลง สิ่งเหล่านี้อาจเป็นด้านสังคม/สถาบัน เศรษฐกิจ/การเงิน หรือเทคโนโลยี
  • การออกแบบและดำเนินนโยบายอุตสาหกรรมที่บูรณาการกับนโยบายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศกำลังพัฒนาควรเร่งดำเนินการเพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านสีเขียวและหมุนเวียน รวมถึงการลงทุนด้านการฝึกอบรมและการศึกษาเพื่อสร้างความตระหนักรู้และเสริมสร้างขีดความสามารถ

การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนต้องใช้นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน บริษัทต่าง ๆ ต้องทบทวนทางเลือกเชิงกลยุทธ์ทั้งหมดของตนเอง ไม่เพียงแต่พิจารณาถึงผลิตภัณฑ์ใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงกระบวนการใหม่และรูปแบบองค์กรที่สามารถประยุกต์ใช้หลักการปฏิบัติงานของการหมุนเวียนให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ในแนวคิดที่กว้างขึ้นของความยั่งยืน เศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นเครื่องมือสำคัญในชุดเครื่องมือความยั่งยืนโดยการปิดวงจรในกระบวนการผลิตและออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่เพื่อลดหรือ (ในอุดมคติ) กำจัดของเสีย การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน โดยมีหลักฐานใหม่ที่ระบุว่าร้อยละ 45 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกเป็นผลมาจากวิธีที่เราผลิตและใช้วัสดุและสินค้า เศรษฐกิจหมุนเวียนยังช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่ามากกว่าร้อยละ 90 ของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเกิดจากการขุดหรือสกัดและแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติ

ในบริบทนี้ SMEs ซึ่งโดยทั่วไปมีความยืดหยุ่นและตอบสนองได้มากกว่า สามารถมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้ ถึงแม้ว่า SMEs ในภาคส่วนต่าง ๆ จะมีความแตกต่างกันอย่างมาก แต่การตอบสนองและความสามารถในการนำ “โซลูชันสีเขียว” (green solution) มาใช้ ดูจะมีความสดใส ถึงแม้ว่าในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนจะมีความท้าทายอยู่ในตัวของมันเองก็ตาม นั่นเป็นเพราะพวกเขามองเห็นความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างผลประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อมและผลกำไรที่จะเกิดขึ้นและส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น

การวิเคราะห์ทางเลือกเชิงกลยุทธ์ของ SMEs และการตัดสินใจลงทุนในการวิจัยและการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถช่วยออกแบบการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างอุตสาหกรรมและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ข้อมูลจากการสำรวจ SMEs ในอิตาลีมากกว่า 4,000 รายในภาคการผลิต ซึ่งดำเนินการโดย University of Ferrara ในช่วงสองปี (2560 – 2561 และ 2562 – 2563) แสดงให้เห็นว่ามีทางเลือกที่เป็นนวัติกรรมอยู่บ้างที่ศูนย์กลางของวิถีเชิงกลยุทธ์ของบริษัท และพบว่าการลดการใช้ไฟฟ้า การลดการใช้วัตถุดิบ และการลดของเสียที่เกิดขึ้น ถือเป็นนวัตกรรมสามประการที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มธุรกิจที่ทำการสำรวจ

นอกจากนี้ บริษัทต่าง ๆ ยังแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการออกแบบเชิงนิเวศน์มากขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งสามารถช่วยลดการใช้วัตถุดิบและเพิ่มอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ได้ ส่วนแบ่งของบริษัทที่นำแนวปฏิบัติเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้โดยเฉพาะ (และเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปมากขึ้น) กำลังลดน้อยลง แต่ยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสม แสดงให้เห็นว่าเราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านซึ่งครอบคลุมบริษัทและนวัตกรรมจำนวนมาก แต่ยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว

เป็นที่น่าสังเกตว่าวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ราคาพลังงานสูงขึ้น และการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ก่อให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้นในทันที แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจในระยะสั้น จากการสำรวจบริษัท 3,000 แห่งในประเทศกำลังพัฒนา 26 ประเทศ แสดงให้เห็นว่าบริษัทที่ประสบปัญหาการขาดแคลนปัจจัยการผลิตในช่วงที่มีการระบาดรุนแรง มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะแสวงหาการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูป เช่น เปิดตัวอุปกรณ์ใหม่ การปรับเปลี่ยนธุรกิจที่มีอยู่เป็นธุรกิจใหม่ (business repurposing) หรือออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม SMEs อาจประสบปัญหาอุปสรรคทางโครงสร้างที่ทำให้การนำนวัตกรรมมาใช้ช้าลง สิ่งเหล่านี้อาจเป็นด้านสังคม/สถาบัน เศรษฐกิจ/การเงิน หรือเทคโนโลยี

จากการศึกษาล่าสุดได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบของนวัตกรรมที่มุ่งเน้นการหมุนเวียนต่อผลการดำเนินธุรกิจของบริษัทในอิตาลี (จากกลุ่มตัวอย่างเดิม) พบว่า ในระยะสั้นเป็นเรื่องยากที่จะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยเฉพาะสำหรับ SMEs นอกจากนี้ การนำแนวปฏิบัติเดี่ยว ๆ มาใช้ (เมื่อเทียบกับชุดแนวปฏิบัติทางธุรกิจและนวัตกรรมแบบหมุนเวียน) อาจไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะนำไปสู่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงหรือปรับปรุงผลประกอบการของบริษัทให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การนำโมเดลธุรกิจแบบหมุนเวียนมาใช้อย่างเต็มรูปแบบไปพร้อม ๆ กันนั้น จำเป็นต้องมีความสามารถและสมรรถนะที่จัดสรรไว้เฉพาะโดยอยู่บนพื้นฐานของแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนทางสังคมขององค์กร การวิจัยและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม และการสำรวจตลาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่แล้ว SMEs มีข้อเสียเปรียบในการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ และอื่น ๆ อีกมากมายในนวัตกรรมและการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน

เพื่อเอาชนะปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง นโยบายอุตสาหกรรมอาจมีจุดมุ่งหมายโดยตรงเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมผ่านการคลังสาธารณะหรือการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะ นโยบายอุตสาหกรรมยังสามารถสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทเพื่อแบ่งปันความรู้และการเรียนรู้จากแหล่งต่าง ๆ ผ่านกรอบการบริหารเชิงสถาบันที่เหมาะสม

การลงทุนด้านการฝึกอบรมและการศึกษาจะช่วยสร้างความตระหนักรู้และสร้างขีดความสามารถเพื่อรองรับการปฏิรูปด้านสังคมและระบบการผลิต การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมจำเป็นต้องมีการลงทุนจำนวนมากในด้านนวัตกรรมและการศึกษาควบคู่กันไป

ภายหลังจากวิกฤตด้านสุขภาพ พลังงาน และภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังดำเนินอยู่ ความคาดหวังในแง่ดีสุดเป็นยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (a period of renaissance) ที่การสร้างและการทำลายล้างจะนำไปสู่นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่นโยบาย Green Deal ของสหภาพยุโรปได้กำหนดพื้นฐานสำหรับเป็นแรงกระตุ้นที่แข็งแกร่งต่อนวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านสีเขียวและหมุนเวียนในยุโรป ประเทศกำลังพัฒนามักจะมีความกระตือรือร้นน้อยกว่าและขาดความสามารถในการออกแบบและดำเนินนโยบายอุตสาหกรรมที่บูรณาการกับนโยบายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ข่าวดีจากหลักฐานเชิงประจักษ์ก็พบว่าแม้แต่ SMEs ที่มักจะมีความเสี่ยงและเปราะบางมากกว่า แต่การเปลี่ยนแปลงก็กำลังเกิดขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีแรงกระตุ้นที่แข็งแกร่งของนโยบายเพื่อเอาชนะอุปสรรคทางโครงสร้างและอุปสรรคชั่วคราวที่พวกเขาอาจเผชิญอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา

อ้างอิง

https://iap.unido.org/index.php/articles/small-and-medium-sized-enterprises-can-drive-circular-economy