• UNIDO ได้ประกาศจัดตั้ง “Global Alliance and Partnership for Responsible and Green Minerals” โดยร่วมมือกับพันธมิตรระหว่างประเทศและประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อส่งเสริมภาคเหมืองแร่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม
  • แกนหลักของ Alliance ประกอบด้วยการปรับแนวนโยบาย เทคโนโลยี และการเงิน โดยส่งเสริมภาคส่วนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยุติธรรมซึ่งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน การทำงานของ Alliance จะกำหนดแนวทางและเกณฑ์มาตรฐานสากลสำหรับห่วงโซ่อุปทานแร่ธาตุที่สำคัญอย่างยั่งยืน ช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ในการดำเนินการตามมาตรฐานและนโยบาย พร้อมด้วยระบบการรับรองที่ดี

การพัฒนาอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานทั่วโลกล้วนต้องการแร่ธาตุและโลหะที่สำคัญ ส่งผลให้ความต้องการแร่ธาตุ เช่น โคบอลต์ นิกเกิล ลิเทียม และทองแดง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 500% ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050)

ในการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Roundtable) ในการประชุม “Future Minerals Forum 2024” ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา Gerd Müller ผู้อำนวยการใหญ่ UNIDO ได้ประกาศจัดตั้ง “Global Alliance and Partnership for Responsible and Green Minerals” โดยร่วมมือกับพันธมิตรระหว่างประเทศและประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อส่งเสริมภาคเหมืองแร่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม แม้ว่าในระยะแรกกลุ่มประเทศเป้าหมายที่จะได้เข้าร่วม Alliance นี้ เป็นประเทศที่เป็นแนวหน้าของการทำเหมืองแร่ที่สำคัญในแอฟริกา เอเชีย และละติอเมริกา ซึ่งหลายประเทศเป็นประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least developed countries: LDCs) แต่ทุกประเทศก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วม Alliance นี้เช่นกัน

ในการกล่าวถ้อยแถลงเปิดการประชุมฯ ผู้อำนวยการใหญ่ Gerd Müller ได้เน้นย้ำว่า “หากไม่มีแร่ธาตุที่สำคัญ ก็จะไม่มีการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” และยังเน้นย้ำว่า “Global Alliance and Partnership for Responsible and Green Minerals พร้อมกับภาระผูกพันด้านมาตรฐานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และระบบการรับรองที่เป็นอิสระ จะเป็นผลดีสำหรับผู้เข้าร่วมในตลาดทั้งหมด สิ่งนี้จะสร้างสถานการณ์แบบ win-win อย่างแท้จริงให้กับประเทศที่มีวัตถุดิบ โดยจะเพิ่มมูลค่าและการผลิตในท้องถิ่นควบคู่ไปกับงานในภาคเหมืองแร่ และผู้คนหลายร้อยล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการทำเหมืองแร่แบบดั้งเดิมและขนาดเล็ก (artisanal and small-scale mining) จะได้รับประโยชน์จากค่าแรงที่เพียงพอสำหรับการดำรงชีพ การยึดมั่นในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และมาตรฐานการทำเหมืองแร่ และในท้ายที่สุดจะช่วยลดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

Alliance จะร่วมกันทำงานเพื่อกำหนดแนวทางและเกณฑ์มาตรฐานสากลสำหรับห่วงโซ่อุปทานแร่ธาตุที่สำคัญอย่างยั่งยืน ช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ในการดำเนินการตามมาตรฐานและนโยบาย ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้วยระบบการรับรองที่ดี ประเทศที่เข้าร่วมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคอุตสาหกรรมจะได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดองค์ความรู้และการเสริมสร้างขีดความสามารถ แกนหลักของ Alliance ประกอบด้วยการปรับแนวนโยบาย เทคโนโลยี และการเงิน โดยส่งเสริมภาคส่วนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยุติธรรมซึ่งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน

UNIDO จะให้คำแนะนำด้านนโยบาย การเสริมสร้างขีดความสามารถ และการดำเนินการตามมาตรฐานและการรับรอง และจะทำหน้าที่เป็นผู้จัดการประชุมสำหรับ Alliance ที่จะเป็นการรวมตัวกันระหว่างรัฐบาลต่าง ๆ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ สมาคมอุตสาหกรรม องค์กรระหว่างรัฐบาลและองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สถาบันการเงินระหว่างประเทศ ผู้ให้บริการเทคโนโลยี และนักวิชาการ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศหุ้นส่วนในห่วงโซ่อุปทานแร่ธาตุที่สำคัญอย่างยั่งยืน

การเปิดตัว Alliance ใหม่และเร่งความคืบหน้าในการส่งเสริมภาคเหมืองแร่ที่ยั่งยืนทั่วโลก ถือเป็นประเด็นสำคัญในระหว่างการประชุมของผู้อำนวยการใหญ่ Müller กับ Bandar Alkhorayef รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรแร่ของซาอุดีอาระเบีย โดยซาอุดีอาระเบียเป็นหุ้นส่วนสำคัญของ UNIDO

นอกจากนี้ ยังได้ทบทวนความคืบหน้าล่าสุดในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง UNIDO และซาอุดีอาระเบียอีกด้วย โครงการริเริ่มสำคัญใหม่ ๆ และโครงการที่เป็นรูปธรรมหลายโครงการอยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการและกำลังจะมีการเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ นโยบายอุตสาหกรรมที่ดีมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกระจายความหลากหลายของเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ปี 2030 (Saudi Arabia’s Vision 2030) และแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมแห่งชาติ (National Industrial Strategy) UNIDO จะให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เช่น การให้คำแนะนำด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม ข้อมูลสถิติ และการเสริมสร้างขีดความสามารถสำหรับผู้กำหนดนโยบายอุตสาหกรรม

การสนับสนุนการกระจายความหลากหลายทางเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียยังเป็นหัวข้อหารือระหว่าง ผู้อำนวยการใหญ่ Müller กับ Faisal F. Al Ibrahim รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการวางแผน (Ministry of Economy and Planning) ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือเพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล รวมถึงโครงการริเริ่มร่วมกันเพื่อเพิ่มมูลค่าในท้องถิ่นและการพัฒนาอุตสาหกรรมในด้านต่าง ๆ เช่น การเข้าถึงพลังงาน ความมั่นคงทางอาหารผ่านการบริหารจัดการน้ำ เทคโนโลยีทางการเกษตร และธุรกิจการเกษตร หนึ่งในประเด็นของการหารือคือการสนับสนุนของ UNIDO ในการพัฒนานโยบายอุตสาหกรรม การสังเกตการณ์เชิงสถิติ (statistics observatories) และยุทธศาสตร์ในการกระจายความหลายหลายทางเศรษฐกิจในซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับอื่น ๆ (Gulf Cooperation Council หรือกลุ่มประเทศ GCC ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน) ที่ UNIDO สามารถให้การสนับสนุนได้ทั้งการพัฒนาวิธีการและการจัดหาผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนการนำไปดำเนินการ

การเยือนประเทศซาอุดิอาระเบียของผู้อำนวยการใหญ่ฯ จะช่วยเสริมความร่วมมือใหม่ระหว่าง UNIDO และซาอุดีอาระเบียให้ดีขึ้น ทั้งนี้ ประเทศซาอุดีอาระเบียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสามัญ (General Conference) สมัยที่ 20 ของ UNIDO ในระหว่างวันที่ 23 – 27 พฤศจิกายน 2568 ณ กรุงริยาด

อ้างอิง

https://www.unido.org/news/unido-announces-launch-global-alliance-responsible-and-green-minerals-cooperation-saudi-arabia