• คณะกรรมาธิการยุโรปได้รับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป เพื่อนำมาประเมินความเสี่ยงกับประเทศสมาชิกต่อไป ข้อเสนอแนะนี้เกิดขึ้นจาก Joint Communication on a European Economic Security Strategy
  • เทคโนโลยี 4 ประเภทที่คัดเลือกมาถือว่ามีแนวโน้มสูงที่จะมีความเสี่ยงที่มีความอ่อนไหวและเร่งด่วนที่สุดต่อความมั่นคงทางเทคโนโลยีและการรั่วไหลของเทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีควอนตัม และเทคโนโลยีชีวภาพ

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปและผู้แทนระดับสูงได้ร่วมรับรอง Joint Communication on European Economic Security Strategy ซึ่งยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของยุโรป (European Economic Security Strategy) ตั้งอยู่บนแนวทาง 3 เสาหลัก ได้แก่ การส่งเสริมฐานเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของสหภาพยุโรป การป้องกันความเสี่ยง และการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในวงกว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อจัดการกับข้อกังวลและความสนใจที่มีร่วมกัน โดยกำหนดให้มีการดำเนินการหลายประการเพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่มีผลต่อความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน ความเสี่ยงต่อความปลอดภัยทางกายภาพและทางไซเบอร์ของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความมั่งคงทางเทคโนโลยีและการรั่วไหลของเทคโนโลยี และความเสี่ยงของการใช้การพึ่งพาทางเศรษฐกิจและการบีบคั้นทางเศรษฐกิจเป็นอาวุธ

การดำเนินการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ European Economic Security Strategy ท่ามกลางภูมิหลังของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 การรุกรานยูเครนของรัสเซีย ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีขั้นสูง สหภาพยุโรปต้องการมีความพร้อมที่ดีขึ้นในการบ่งชี้ความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยใช้เครื่องมือที่มีอยู่และพัฒนาเครื่องมือใหม่ตามที่จำเป็น

และล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม คณะกรรมาธิการฯ ได้รับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่สำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป เพื่อนำมาประเมินความเสี่ยงกับประเทศสมาชิกต่อไป ข้อเสนอแนะนี้เกิดขึ้นจาก Joint Communication on a European Economic Security Strategy ที่ได้วางแนวทางเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุมเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป

ข้อเสนอแนะนี้เป็นการประเมินความเสี่ยงหนึ่งในสี่ของประเภทความเสี่ยงในแนวทางที่ครอบคลุม นั่นคือ ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและการรั่วไหลของเทคโนโลยี ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอเทคโนโลยีที่สำคัญ 10 ประเภท ซึ่งคัดเลือกโดยใช้หลักเกณฑ์ต่อไปนี้

    • การประยุกต์ใช้และธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี: ศักยภาพและความสอดคล้องของเทคโนโลยีในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างมีนัยสำคัญ และ/หรือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับภาคส่วน ขีดความสามารถ เป็นต้น
    • ความเสี่ยงของการผสานรวมกันระหว่างพลเรือนและทหาร: ความสอดคล้องของเทคโนโลยีสำหรับภาคพลเรือนและทหาร และศักยภาพในการพัฒนาทั้งสองภาคส่วน ตลอดจนความเสี่ยงของการใช้เทคโนโลยีบางประเภทเพื่อบ่อนทำลายสันติภาพและความมั่นคง
    • ความเสี่ยงที่เทคโนโลยีอาจถูกนำไปใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชน: การใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดซึ่งอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

    จากเทคโนโลยีจำนวน 10 ประเภท คณะกรรมาธิการฯ ได้บ่งชี้ถึงเทคโนโลยี 4 ประเภท ที่ถือว่ามีแนวโน้มสูงที่จะมีความเสี่ยงที่มีความอ่อนไหวและเร่งด่วนที่สุดต่อความมั่นคงทางเทคโนโลยีและการรั่วไหลของเทคโนโลยี ดังนี้

    • เทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง (Advanced Semiconductors technologies) ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก (microelectronics) เทคโนโลยีเกี่ยวกับแสง (photonics) ชิปความถี่สูง (high frequency chips) อุปกรณ์การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (semiconductor manufacturing equipment)
    • เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence technologies) ได้แก่ การประมวลผลประสิทธิภาพสูง (high performance computing) การประมวลผลที่ผ่านเครือข่ายและที่ใกล้กับแหล่งกำเนิดข้อมูล (cloud and edge computing) การวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) คอมพิวเตอร์วิทัศน์หรือการประมวลผลภาพ (computer vision) การประมวลผลภาษา (language processing) การประมวลผลและจดจำวัตถุ (object recognition)
    • เทคโนโลยีควอนตัม (Quantum technologies) ได้แก่ การประมวลผลเชิงควอนตัม (quantum computing) การเข้ารหัสลับเชิงควอนตัม (quantum cryptography) การสื่อสารเชิงควอนตัม (quantum communications) การตรวจวัดเชิงควอนตัมและควอนตัมเรดาร์ (quantum sensing and radar)
    • เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnologies) ได้แก่ เทคนิคการดัดแปลงพันธุกรรม (techniques of genetic modification) เทคนิคจีโนม (genomic techniques) กระบวนการทางธรรมชาติและเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมที่ถ่ายทอดชุดยีนเฉพาะยังประชากรรุ่นหลัง (gene-drive) ชีววิทยาสังเคราะห์หรือการออกแบบและสร้างระบบทางชีวภาพ
    Credit:  Flickr– IBM Research 

    คณะกรรมาธิการฯ เสนอแนะให้ประเทศสมาชิกร่วมกับคณะกรรมาธิการฯ ผ่านเวทีการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญที่เหมาะสมในการเริ่มดำเนินการประเมินความเสี่ยงโดยรวมของเทคโนโลยีทั้ง 4 ด้านภายในสิ้นปี 2566 และจะมีการเจรจาอย่างเปิดเผยกับประเทศสมาชิกเกี่ยวกับเวลาและขอบเขตที่เหมาะสมสำหรับการประเมินความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อไป โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านเวลาต่อวิวัฒนาการของความเสี่ยงด้วย ทั้งนี้ มีกำหนดการที่จะนำเสนอความคิดริเริ่มในประเด็นดังกล่าวในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2567

    ข้อเสนอแนะประกอบด้วยหลักการชี้แนะบางประการเพื่อจัดโครงสร้างการประเมินความเสี่ยงโดยรวม รวมถึงการปรึกษาหารือของภาคเอกชนและการคุ้มครองรักษาความลับ โดยมาตรการที่จะนำมาใช้นั้นก็เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสหภาพยุโรปในด้านที่เกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีบางอย่างได้ นอกจากนี้ การประเมินความเสี่ยงจะมีลักษณะเป็นกลางโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และไม่สามารถคาดหวังผลลัพธ์หรือมาตรการติดตามผลใด ๆ ได้ในขั้นตอนนี้

    อ้างอิง