• ‘มวลดำ’ หรือ black mass เป็นวัตถุที่ได้จากการบดย่อยและผ่านกระบวนการแปรรูปแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งประกอบด้วยโลหะต่าง ๆ ได้แก่ ลิเทียม แมงกานีส โคบอลท์ และนิกเกิล ในปริมาณสูง ซึ่งสามารถสกัดออกมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ใหม่ได้
  • อุตสาหกรรมรีไซเคิลของยุโรปซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสิ่งแวดล้อม ได้ขอให้บรัสเซลส์ห้ามการส่งออกโลหะที่ได้จากการรีไซเคิลแบตเตอรี่รถยนต์ที่ใช้งานแล้ว เพื่อส่งเสริมการรีไซเคิลในยุโรปและลดการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้า ซึ่งสามารถทำได้โดยการแก้ไขรหัสของเสียเฉพาะสำหรับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและของเสียขั้นกลาง” หรือ ‘มวลดำ’ (black mass) โดยจัดให้เป็นของเสียอันตราย

เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปได้ลงมติให้มีการส่งเสริมการรีไซเคิล “วัตถุเชิงยุทธศาสตร์” (Strategic Raw Materials) จากของเสียที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรปเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบเหล่านี้จากประเทศอื่น เช่น จีน เป้าหมายนี้เป็นส่วนหนึ่งในจุดยืนของรัฐสภาต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยวัตถุดิบที่สำคัญ (Critical Raw Materials Act) ที่ถูกเสนอไว้ ซึ่งมีการระบุเป้าหมายที่ทะเยอทะยานสำหรับการสกัด แปรรูป และรีไซเคิลแร่ธาตุที่สำคัญในสหภาพยุโรป

รัฐสภายุโรปยังได้เพิ่มบทบัญญัติใหม่เพื่อปรับปรุงการรีไซเคิลโลหะที่สกัดจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แล้ว โดยมอบหมายให้คณะกรรมาธิการยุโรปพัฒนา “รหัสของเสียเฉพาะสำหรับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและของเสียขั้นกลาง” หรือ ‘มวลดำ’ (black mass) สิ่งนี้จะช่วยให้บรัสเซลส์จัดประเภท ‘มวลดำ’ ให้เป็นของเสียอันตราย จำกัดการส่งออกไปนอกยุโรป และท้ายที่สุดก็เก็บวัตถุอันมีค่าภายในพื้นที่ของสหภาพยุโรป ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากนักสิ่งแวดล้อม

อะไรคือ มวลดำ(black mass)

จากข้อมูลของบริษัท Basf ระบุว่า แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ประกอบด้วยโลหะ ได้แก่ ลิเทียม แมงกานีส โคบอลท์ และนิกเกิล เมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน ก็สามารถเก็บรวบรวม แยกชิ้นส่วน และบดย่อยได้ ซึ่งวัตถุที่บดย่อยแล้วจะถูกแปรรูปเพื่อให้ได้วัตถุที่เรียกว่า ‘มวลดำ’ ซึ่งประกอบด้วยโลหะต่าง ๆ ได้แก่ ลิเทียม แมงกานีส โคบอลท์ และนิกเกิล ในปริมาณสูง โดยสามารถสกัดโลหะเหล่านี้ออกจาก ‘มวลดำ’ เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่ใหม่ได้

Julia Poliscanova ผู้อำนวยการฝ่ายยานยนต์ไฟฟ้าและการขนส่งด้วยไฟฟ้า จากองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐด้านการขนส่งที่สะอาด Transport & Environment (T&E) กล่าวว่า “เมื่อแบตเตอรี่ถูกบดย่อยเป็นชิ้น ๆ และผ่านกระบวนการจนกลายเป็นวัตถุที่เรียกว่า ‘มวลดำ’ มักจะถูกซื้อไปอย่างรวดเร็วโดยชาวเกาหลีหรือจีน เนื่องจากได้ผ่านกระบวนการต่าง ๆ มาอย่างสมบูรณ์แล้วและมีต้นทุนด้านพลังงานที่ต่ำ นั่นหมายความว่า “การเข้าถึงวัตถุดิบอาจเป็นปัญหาได้” สำหรับโรงงานรีไซเคิลในยุโรป และกล่าวเสริมว่า “เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ยุโรปจำเป็นต้องจำกัดการส่งออก ‘มวลดำ’ ออกไปนอกสหภาพยุโรป”

ความเคลื่อนไหวเพื่อจำกัดการส่งออก ‘มวลดำ’ ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรการค้า “สมาพันธ์อุตสาหกรรมรีไซเคิลแห่งยุโรป  (European Recycling Industries Confederation: EuRIC) ซึ่ง Emmanuel Katrakis เลขาธิการของ EuRIC กล่าวว่า “โดยทั่วไป ‘มวลดำ’ ควรจัดเป็นของเสียอันตราย เพื่อให้แน่ใจว่ามีการจัดการของเสียอย่างเหมาะสมภายในสหภาพยุโรปและในที่อื่น ๆ หากมีการส่งออก ‘มวลดำ’ ออกนอกสหภาพยุโรป อย่างน้อยที่สุด ก็ควรได้รับการบำบัดภายใต้เงื่อนไขที่เทียบเท่ากับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายของสหภาพยุโรป”

แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ประกอบด้วยโลหะมีค่า เช่น ลิเทียม ทองแดง แมงกานีส โคบอลท์ และนิกเกิล ซึ่งอยู่ในบัญชีรายการวัตถุดิบที่สำคัญของสหภาพยุโรป

การเพิ่มขีดความสามารถการรีไซเคลในสหภาพยุโรป

การเก็บรักษา ‘มวลดำ’ ไว้ในยุโรปก็สมเหตุสมผล สำหรับสมาคมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่แห่งยุโรป (European battery industry association: Eurobat) เพราะจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการรีไซเคิลและการเป็นอิสระเชิงยุทธศาสตร์ของสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ตาม Eurobat เตือนว่า ความพยายามจะไร้ผลหากสหภาพยุโรปไม่เพิ่มกำลังการรีไซเคิลภายในภูมิภาคไปพร้อม ๆ กัน ซึ่ง Pau Sanchis ผู้จัดการอาวุโสด้านนโยบายของ Eurobat กล่าวว่า “Eurobat ได้เรียกร้องให้มีการลงทุนในภาคส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญของห่วงโซ่คุณค่าของแบตเตอรี่ รวมถึงการแปรรูปและการรีไซเคิลวัตถุจากแบตเตอรี่”

ปัจจุบันโรงงานรีไซเคิลในยุโรปขาดศักยภาพทางอุตสาหกรรมในการรีไซเคิลวัตถุดิบที่สำคัญในวงกว้าง ส่วนใหญ่เป็นเพราะการนำเข้าจากต่างประเทศมีต้นทุนถูกกว่ามาก

Emmanuel Katrakis กล่าวว่า เพื่อให้เกิดผลย้อนกลับ จำเป็นต้องมีแรงจูงใจเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้เล่นทุกฝ่ายมีโอกาสเท่าเทียมกัน “โดยทั่วไปนี่คือสิ่งที่กฎระเบียบว่าด้วยแบตเตอรี่ (Battery Regulation) ใช้กับโลหะที่พบในแบตเตอรี่ ด้วยการดึงความต้องการสำหรับ CRMs ผ่านเป้าหมายปริมาณการรีไซเคิล เป้าหมายดังกล่าวจะเป็นตัวขับเคลื่อนการลงทุนที่สำคัญในสหภาพยุโรป และในขณะเดียวกันก็ช่วยปกป้องสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม”

ความเป็นไปได้เชิงเศรษฐกิจของการนำวัตถุดิบกลับคืนจากแบตเตอรี่รถยนต์ที่ใช้แล้วยังมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวัตถุแต่ละชนิด ซึ่งการรีไซเคิลวัตถุบางชนิดมีต้นทุนที่มากกว่าชนิดอื่น โดย Pau Sanchis จาก Eurobat กล่าวว่า “แน่นอนว่าความท้าทายจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ ซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะของตลาดสำหรับวัตถุดิบแต่ละชนิด เช่น สามารถหาวัตถุดิบเหล่านั้นได้ในราคาที่ถูกหรือไม่จาก London Metal Exchange และสหภาพยุโรปได้มีความร่วมมือทางการค้าที่มีสิทธิพิเศษกับประเทศผู้จัดหาวัตถุดิบหรือไม่”

Julia Poliscanova จาก T&E ตระหนักดีว่าการรีไซเคิลอาจมีความท้าทายไม่มากก็น้อยขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุ แต่ได้กล่าวว่าการให้ความสำคัญกับการคัดแยกประเภท การรวบรวม และการแปรรูปในยุโรปจะส่งสัญญาณเชิงบวกไปยังโรงงานรีไซเคิลในสหภาพยุโรป โดยไม่ต้องคำนึงถึงชนิดของวัตถุเหล่านั้นเลย “ไม่ว่าจะวัตถุจะถูกนำกลับคืนมาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือแบตเตอรี่รถยนต์ โรงงานรีไซเคิลจะต้องเตรียมพร้อมและมีศักยภาพในการรีไซเคิลวัตถุเหล่านั้น ดังนั้น จึงไม่ควรใช้เป็นข้ออ้างในการที่จะไม่ดำเนินการ”

รหัสของเสีย

ในขณะที่สหภาพยุโรปกำลังอยู่ระหว่างจัดทำพระราชบัญญัติว่าด้วยวัตถุดิบที่สำคัญให้เสร็จสมบูรณ์ แต่ความสนใจในขณะนี้กลับไปอยู่ที่คณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งอาจมีการจำกัดการส่งออก ‘มวลดำ’ โดยจัดประเภทให้เป็นของเสียอันตราย

Julia Poliscanova กล่าวว่า “วิธีที่จะทำได้ ก็คือการแก้ไขรหัสของเสีย (waste codes) ของสหภาพยุโรป”

รหัสของเสียของสหภาพยุโรปได้รับการปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อเกือบทศวรรษที่แล้ว และคณะกรรมาธิการยุโรปก็อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงอยู่ แต่ว่ายังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ “

ในขณะที่การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง จึงไม่น่าที่จะมีการดำเนินการใด ๆ ในปีหน้านี้ ไม่มีเหตุผลใดว่าทำไมพวกเขาถึงไม่สามารถแก้ไขรหัสของเสียเหล่านั้นได้ภายในปี 2566 นี้” อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยุโรปไม่ได้ตอบสนองต่อคำถามดังกล่าว

อ้างอิง