• กฎระเบียบว่าด้วยแบตเตอรี่ (Batteries Regulation) ของสหภาพยุโรปมีผลบังคับใช้แล้ว ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของยุโรปที่ใช้แนวทางของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์เต็มรูปแบบ ครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การใช้ และการรีไซเคิล ซึ่งช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เพิ่มความมั่นคงในการจัดหาวัตถุดิบและพลังงาน และเพิ่มความเป็นอิสระเชิงกลยุทธ์ของสหภาพยุโรป
  • ภายใต้กฎระเบียบฯ นี้ จะช่วยให้มั่นใจว่าในอนาคตแบตเตอรี่จะมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (carbon footprint) ที่ต่ำ ใช้สารที่เป็นอันตรายน้อยที่สุด ใช้วัตถุดิบในการผลิตจากประเทศนอกสหภาพยุโรปน้อยลง และได้รับการเก็บรวบรวม นำกลับมาใช้ซ้ำ และรีไซเคิลในระดับสูง

ความต้องการแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) จะเพิ่มขึ้นถึง 14 เท่าทั่วโลก โดยคาดว่าเป็นความต้องการที่เพิ่มขึ้นของสหภาพยุโรปคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 17 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการปรับเปลี่ยนเป็นการขนส่งด้วยระบบไฟฟ้า ความต้องการแบตเตอรี่ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนี้จะนำไปสู่ความต้องการวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

สหภาพยุโรปได้มีการควบคุมแบตเตอรี่และของเสียแบตเตอรี่ภายใต้ข้อกำหนดว่าด้วยแบตเตอรี่ (Batteries Directive) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอให้มีการแก้ไขข้อกำหนดนี้เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม การพัฒนาทางเทคโนโลยี ตลาด และการใช้งานแบตเตอรี่ที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ เมื่อปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) คณะกรรมาธิการยุโรปได้เปิดตัว European Battery Alliance เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าแบตเตอรี่ของยุโรปที่เป็นนวัตกรรม มีความยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก และรับประกันการจัดหาแบตเตอรี่ที่จำเป็นสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่งและพลังงาน

กฎระเบียบว่าด้วยแบตเตอรี่ (Batteries Regulation) ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของยุโรปที่ใช้แนวทางของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์เต็มรูปแบบ ครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การใช้ และการรีไซเคิล ซึ่งบัญญัติไว้ภายในกฎหมายฉบับเดียว โดยมีความสอดคล้องกับความทะเยอทะยานในมิติด้านการหมุนเวียนของ European Green Deal

แบตเตอรี่เป็นเทคโนโลยีสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสีเขียว (green transition) สนับสนุนการคมนาคมที่ยั่งยืน และมีส่วนช่วยทำให้เกิดความเป็นกลางของสภาพภูมิอากาศภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568) เป็นต้นไป ภายใต้กฎระเบียบฯ นี้ จะมีการทยอยประกาศข้อกำหนดและเป้าหมายต่าง ๆ ออกมา ได้แก่ ข้อกำหนดการสำแดงข้อมูล ระดับประสิทธิภาพ และขีดจำกัดสูงสุดของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของยานพาหนะไฟฟ้า ยานพาหนะขนาดเล็ก (เช่น จักรยานไฟฟ้า และสกู๊ตเตอร์) และแบตเตอรี่อุตสาหกรรมแบบชาร์จไฟได้ รวมถึงเป้าหมายประสิทธิภาพในการนำวัสดุกลับคืนและการรีไซเคิล

ข้อมูลสำคัญจะต้องถูกแสดงบนฉลากของแบตเตอรี่ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการตัดสินใจว่าจะซื้อแบตเตอรี่ชนิดใด รหัส QR code จะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงหนังสือเดินทางดิจิทัล (digital passport) ที่มีข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับแบตเตอรี่แต่ละชิ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคและโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่าของแบตเตอรี่ในความพยายามที่จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นจริงสำหรับแบตเตอรี่

แบตเตอรี่ที่ใช้งานแล้วที่ถูกเก็บรวบรวมทั้งหมดจะต้องถูกนำไปรีไซเคิล และจะต้องมีปริมาณการนำวัสดุกลับคืนในระดับที่สูง โดยเฉพาะวัตถุดิบที่สำคัญ (critical raw materials) เช่น โคบอลต์ ลิเทียม และนิกเกิล สิ่งนี้จะเป็นหลักประกันว่าวัสดุอันมีค่าจะถูกกสกัดออกจากแบตเตอรี่ที่สิ้นอายุการใช้งานแล้ว และนำกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง ทั้งนี้ เมื่อเวลาผ่านไปจะมีการกำหนดเป้าหมายประสิทธิภาพการรีไซเคิลและการนำวัสดุกลับคืนที่เข้มงวดมากขึ้น

ภายใต้ข้อผูกพันการสอบทานธุรกิจ (due diligence) ของกฎหมายใหม่นี้ บริษัทจะต้องบ่งชี้ ป้องกัน และจัดการกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เชื่อมโยงกับการจัดหา การแปรรูป และการค้าวัตถุดิบ เช่น ลิเทียม โคบอลต์ นิกเกิล และแกรไฟต์ธรรมชาติ ที่เป็นองค์ประกอบในแบตเตอรี่ของพวกเขา ความต้องการแบตเตอรี่ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมาในสหภาพยุโรปไม่ควรมีส่วนทำให้ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเพิ่มมากขึ้น

กฎระเบียบว่าด้วยแบตเตอรี่ จะช่วยให้มั่นใจว่าแบตเตอรี่ที่วางจำหน่ายในตลาดเดียวของสหภาพยุโรปจะมีปริมาณสารอันตรายที่จำเป็นในปริมาณจำกัดเท่านั้น และสารอันตรายที่ถูกนำมาใช้เหล่านี้จะได้รับการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2027 (พ.ศ. 2570) เป็นต้นไป ผู้บริโภคจะสามารถถอดและเปลี่ยนแบตเตอรี่แบบพกพาในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของตนได้ตลอดช่วงของวงจรชีวิตของอุปกรณ์เหล่านี้ สิ่งนี้จะช่วยขยายอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกไปก่อนที่จะกลายเป็นของเสียและต้องนำไปกำจัดในขั้นสุดท้าย ทั้งยังช่วยส่งเสริมการนำมาใช้ซ้ำและช่วยลดของเสียที่เกิดจากการใช้งานของผู้บริโภคแล้ว (post-consumer waste

ขั้นตอนการดำเนินงานในขณะนี้จะมุ่งเน้นไปที่การใช้กฎหมายในประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป และการแก้ไขกฎหมายระดับรอง (implementing and delegated acts) ให้มีกฎที่มีรายละเอียดมากขึ้น

อ้างอิง

https://environment.ec.europa.eu/news/new-law-more-sustainable-circular-and-safe-batteries-enters-force-2023-08-17_en