• ภาคส่วนที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยาก เช่น ซีเมนต์ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ย เหล็ก การบิน การขนส่ง และการขนส่งทางถนน รวมถึง SMEs ต้องการเงินทุนจำนวนมากเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ แต่ยังขาดเงินทุนสำหรับดำเนินการ
  • UNECE และพันธมิตรสนับสนุนการพัฒนากลไก “การเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่าน” เพื่อเร่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมที่ลดได้ยากเหล่านั้นและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอย่างยุติธรรมในภาคส่วนที่ต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิลด้วย โดยปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญคือความร่วมมือเชิงนวัตกรรมระหว่างภาครัฐ องค์กรต่างๆ และสถาบันการเงิน

ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ระบุว่าจำเป็นต้องมีการลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศจำนวนมากถึง 1.6 ถึง 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2593 เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของความตกลงปารีส (Paris Agreement)

ในขณะที่การเงินสีเขียว (green finance) ได้เพิ่มขึ้นกว่าสามเท่านับตั้งแต่มีการรับรองความตกลงปารีสตั้งแต่ปี 2558 แต่ว่าการลงทุนที่จำเป็นสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยากนั้นยังมีไม่มากเท่านั้น คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติสำหรับยุโรป (United Nations Economic Commission for Europe – UNECE) และพันธมิตร ได้กล่าวเตือนในที่ประชุม COP28 ว่า สิ่งนี้จะขัดขวางความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในวงกว้าง และจะต้องได้รับการกล่าวถึงในแผนการดำเนินงานและความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศอย่างเพียงพอ

องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และอีกหลายหน่วยงานกำลังจัดทำหลักการชี้แนะสำหรับ Glasgow Financial Alliance for Net Zero (GFANZ) เพื่อจัดกลุ่มประเภทสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง โดยเรียนรู้จากประสบการณ์การใช้เครื่องมือทางการเงินด้านความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พันธบัตร และสินเชื่อ

การประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงในการประชุม COP28 ได้ให้ความสำคัญกับโซลูชันที่เป็นรูปธรรมเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินเหล่านี้ เพิ่มแรงผลักดันให้กับความพยายามในการพัฒนากลไก “การเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่าน” (transition finance) เพื่อเร่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมที่ลดได้ยากเหล่านั้นและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอย่างยุติธรรมในภาคส่วนที่ต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิลด้วย

ภาคส่วนที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยาก เช่น ซีเมนต์ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ย เหล็ก การบิน การขนส่ง และการขนส่งทางถนน ซึ่งรวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนประมาณหนึ่งในสามของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก ต้องการเงินทุนจำนวนมากสำหรับเทคโนโลยีและกระบวนการที่เป็นนวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประกอบกิจการ อย่างไรก็ตาม การจัดหาเงินทุนดังกล่าวมักจะไม่สอดคล้องกับการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (green taxonomies) นำมาซึ่งความท้าทายที่สำคัญสำหรับการระดมทุน

               Tatiana Molcean เลขาธิการบริหารของ UNECE กล่าวว่า “การลงทุนในอนาคตที่มีคาร์บอนต่ำได้รับผลตอบแทนแล้ว จากข้อมูลของ UNECE ได้เน้นย้ำว่าเงินที่นำไปใช้ในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำไม่ได้เป็นเพียงค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเท่านั้น แต่ยังเป็นการดำเนินการทางการเงินที่ชาญฉลาดอีกด้วย การลงทุนตอนนี้สามารถช่วยให้เราหลีกเลี่ยงต้นทุนและการหยุดชะงักที่ไม่สามารถจินตนาการได้จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจนำมาสู่เศรษฐกิจ สังคม และชีวิตประจำวันของเรา”

Johannes Hahn กรรมาธิการสหภาพยุโรปด้านงบประมาณและการบริหาร กล่าวว่า “European Green Bonds พิสูจน์ให้เห็นถึงพลังของการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่าน: เราประสบความสำเร็จในการแปลงความทะเยอทะยานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของเราในด้านการจัดหาเงินทุน และกำลังก้าวไปสู่การเป็นผู้ออกหลักทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของโลก ขณะนี้ผลทึ่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมเนื่องจากการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศที่วัดผลได้ของ Green Bonds สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างถาวรถึง 44 ล้านตันต่อปี และสิ่งเหล่านี้เป็นการประมาณการแบบอนุรักษ์นิยมโดยอิงจากผลกระทบที่สามารถวัดปริมาณได้อย่างมั่นใจ ณ เวลานี้เท่านั้น Team Europe พร้อมที่จะผนึกกำลังในระดับโลก: การให้ทุนสนับสนุนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศเป็นการลงทุนที่ชาญฉลาดในอนาคต ไม่เพียงแต่ทางการเงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโลกของเราด้วย”

            Mahmoud Mohieldin คณะผู้แทนระดับสูงของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UN Climate Change High-Level Champion) กล่าวว่า “การเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านเป็นประเด็นการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สำคัญซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับ SDGs สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในช่วงเปลึ่ยนผ่าน และความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักทั้งหมดมีส่วนสำคัญที่จะช่วยเร่งให้เกิดการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศและ SDGs”

นอกจากนี้ การลงทุนก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจระดับขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งประกอบขึ้นเป็นห่วงโซ่คุณค่าส่วนใหญ่ของโลก เป็นที่คาดกันว่าจำเป็นต้องใช้เงินถึง 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเปลี่ยนผ่านห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การผลิตพลังงานหมุนเวียน และกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็เป็นประเด็นที่สำคัญของธุรกิจเหล่านี้ที่พยายามจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ แต่หลายครั้งก็พบว่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นคือความต้องการเงินทุนเริ่มต้นที่สูง การเข้าถึงแหล่งเงินและการรับรู้ข้อมูลของแหล่งเงินที่จำกัด รวมถึงการขาดทักษะที่เหมาะสม

Souad Benkredda หนึ่งในคณะกรรมการของ DZ BANK กล่าวว่า “ความยั่งยืนคือสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับ DZ BANK ในฐานะสถาบันกลางของกลุ่มธนาคารสหกรณ์ (cooperative banking) ในเยอรมนี เรียกได้ว่าเป็น DNA ของเราเลยทีเดียว แต่เราไม่สามารถบรรลุโลกที่ยั่งยืนมากขึ้นได้ด้วยการมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นสีเขียวอยู่แล้ว เราต้องทำให้ทุกภาคส่วนสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่โมเดลธุรกิจที่มีคาร์บอนต่ำลงได้”

อ้างอิง

https://unece.org/media/press/386127