• หากอุตสาหกรรมคอนกรีตและซีเมนต์สามารถใช้ห่วงโซ่คุณค่าแบบหมุนเวียน (circular value chain) จะสามารถสร้างมูลค่าสุทธิได้ถึง 110 พันล้านยูโร และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 2 พันล้านตันภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050)
  • อุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีตมีศักยภาพในการสร้างวงจรปิดสำหรับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ วัสดุและแร่ธาตุ และพลังงาน นอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำของเสียจากการก่อสร้างและการรื้อถอนไปฝังกลบแล้ว ยังสร้างมูลค่าโดยนำของเสียเหล่านี้กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่หรือรีไซเคิล

รายงานล่าสุดโดย McKinsey & Company ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพอันมหาศาลสำหรับอุตสาหกรรมที่มีมลภาวะค่อนข้างมากในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ห่วงโซ่คุณค่าแบบหมุนเวียน โดยการดักจับและใช้ประโยชน์จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตปูนซีเมนต์และคอนกรีต การใช้วัสดุเหลือใช้เป็นพลังงาน และการสร้างระบบรีไซเคิลและการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ตลอดสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง (built environment) โดยหากมีการดำเนินการที่เหมาะสม จะสามารถสร้างมูลค่าสุทธิได้ถึง 110 พันล้านยูโร และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 2 พันล้านตันภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050)

ห่วงโซ่คุณค่าแบบหมุนเวียน (หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน) เป็นแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่ลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรให้สูงสุด การใช้ซ้ำ การรีไซเคิล และการสร้างวัสดุหรือทรัพยากรขึ้นมาใหม่ สามารถสร้างมูลค่าได้และในขณะเดียวกันก็ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างระบบที่ยั่งยืนมากขึ้นโดยมีการหมุนเวียนทรัพยากรอย่างต่อเนื่องและลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด

จากข้อมูลรายงาน พบว่า กระบวนการหมุนเวียนมีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณร้อยละ 80 ของปริมาณการปล่อยทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตปูนซีเมนต์และคอนกรีตภายในปี 2593 นอกจากนี้ยังสามารถถ่วงดุลความสูญเสียของอุตสาหกรรมได้มากกว่าครึ่งหนึ่งอันเป็นผลมาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและความต้องการที่ลดลง

Jukka Maksimainen ผู้นำร่วมระดับโลกของ McKinsey’s Global Energy & Materials practice กล่าวว่า “การนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีต ไม่เพียงแต่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเท่านั้น แต่ยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้มหาศาลอีกด้วย”

“อุตสาหกรรมซีเมนต์อยู่ในตำแหน่งที่สมบูรณ์แบบในการสร้างวงจรปิดสำหรับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ วัสดุและแร่ธาตุ และพลังงาน เราได้คาดการณ์ว่าเทคโนโลยีหมุนเวียนแต่ละเทคโนโลยีจะมีมูลค่าเป็นบวกภายในปี 2593 ในณะที่เทคโนโลยีบางประเภทได้ทำกำไรมากกว่าโซลูชั่นทั่วไปในปัจจุบันอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังจะช่วยลดการปล่อยก๊าซทั่วโลกได้อย่างมาก รวมถึงลดของเสียได้ร้อยละ 30 – 40 ของปริมาณที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากการก่อสร้างและการบำรุงรักษาสภาพแวดล้อมสรรค์สร้าง”

รายงานพบว่า การนำวัสดุก่อสร้างมารีไซเคิลและมาใช้ใหม่เพียงอย่างเดียวสามารถสร้างรายได้ต่อปีได้เกือบ 80 พันล้านยูโร ในขณะที่การนำโครงสร้างคอนกรีตกลับมาใช้ใหม่อาจสร้างมูลค่าสุทธิประมาณ 24 พันล้านยูโรภายในปี 2593

ภูมิภาคที่มีค่าใช้จ่ายในการฝังกลบขยะที่สูงและมีปริมาณของเสียจากการก่อสร้างและการรื้อถอนปริมาณมากจะได้รับประโยชน์เป็นพิเศษจากเชื้อเพลิงทางเลือกที่ทำจากวัสดุเหลือทิ้ง โดยมีส่วนแบ่งเชื้อเพลิงทางเลือกโดยเฉลี่ยทั่วโลกสูงถึงร้อยละ 43 ภายในปี 2893

Sebastian Reiter หุ้นส่วนใน McKinsey’s Global Energy & Materials practice กล่าวว่า “ผู้เล่นในอุตสาหกรรมซีเมนต์และอื่น ๆ ควรมีส่วนร่วมในการสร้างธุรกิจแบบหมุนเวียนและใช้เทคโนโลยีหมุนเวียนเพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยงทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป”

“มูลค่าความเสี่ยงทั้งหมด (total value at risk) จากราคาคาร์บอนและค่าใช้จ่ายในการฝังกลบอาจสูงถึงประมาณ 210 พันล้านยูโรภายในปี 2593 และสิ่งนี้จะช่วยเร่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีหมุนเวียนมาใช้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น การวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีที่ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การบ่มคอนกรีตผสมเสร็จหรือคอนกรีตสำเร็จรูป สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเชิงบวกได้ในราคาคาร์บอนประมาณร้อยละ 80 ของคาร์บอนไดออกไซด์ ในขณะที่การใช้ของเสียจากการก่อสร้างเป็นมวลรวมหรือวัสดุผสมสำหรับการผลิตคอนกรีตจะช่วยหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายในการฝังกลบได้”

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เป็นตัวปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ และเป็นที่รู้กันว่าคอนกรีตสร้างความเสียหายให้กับดินชั้นบน แม้ว่าโครงสร้างคอนกรีตและวัสดุคลุมดินจะมีอยู่อย่างแพร่หลายในทุกที่ที่มนุษย์อาศัยอยู่ แต่การผลิตปูนซีเมนต์คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 36 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในกิจกรรมการก่อสร้าง

อุตสาหกรรมการก่อสร้างยังคงเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการผลักดันไปสู่ความยั่งยืนต่อไปนั้นเป็นไปอย่างช้า ๆ 

อ้างอิง

https://www.consultancy.eu/news/9421/circular-cement-industry-could-unlock-110-billion-by-2050