• UNIDO เผยแพร่รายงานประจำปีสถิติอุตสาหกรรมนานาชาติฉบับที่ 29 นำเสนอภาพรวมที่ครอบคลุมของการพัฒนาล่าสุดในภาคอุตสาหกรรมทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค
  • ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกมีการเติบโต 2.3% ซึ่งการผลิตถือเป็นส่วนสำคัญของพลวัตนี้โดยเพิ่มขึ้น 3.2% ข้อมูลในปี 2566 บ่งชี้ถึงการชะลอตัวของการผลิตอันเนื่องมาจากต้นทุนที่สูงขึ้น ภาวะการเงินตึงตัวขึ้น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
  • รายงานนำเสนอแนวโน้มการพัฒนาที่สำคัญ เช่น การแยกระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมออกจากกัน (decoupling) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การปรับสมดุลการผลิตจากประเทศที่มีรายได้สูงไปสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่และกระบวนการผลิตดิจิทัลขั้นสูงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การวิจัยและพัฒนาเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน

รายงานประจำปีสถิติอุตสาหกรรมนานาชาติฉบับที่ 29 (The 29th edition of the International Yearbook of Industrial Statistics) เป็นรายงานสถิติที่สำคัญซึ่งจัดทำโดยองค์การ UNIDO เพื่อนำเสนอภาพรวมที่ครอบคลุมของการพัฒนาล่าสุดในภาคอุตสาหกรรมทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ผ่านการแสดงผลข้อมูลแบบสรุปและสามารถติดตามสถานะได้ (dashboard) การนำเสนอแผนภาพข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ (visualizations) และการวิเคราะห์ข้อมูลแบบกระชับ รายงานฉบับนี้มุ่งเน้นมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย

ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกมีการเติบโต 2.3% จากภาคส่วนการผลิต เหมืองแร่ ไฟฟ้า น้ำประปา การจัดการของเสีย และสาธารณูปโภคอื่น ๆ ซึ่งการผลิตถือเป็นส่วนสำคัญของพลวัตนี้โดยเพิ่มขึ้น 3.2% ในขณะที่ภาคเหมืองแร่และสาธารณูปโภครวมกันเป็นภาคส่วนที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำโดยมีการหดตัวลง 0.9% การข้อมูลในปี 2566 บ่งชี้ถึงการชะลอตัวของการผลิตอันเนื่องมาจากต้นทุนที่สูงขึ้น ภาวะการเงินตึงตัวขึ้น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

ในการผลิตทั่วโลก พบว่า การแยกระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ (ในบริบทนี้คือการผลิต) กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมออกจากกัน (decoupling) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ

ในด้านบวก มีหลักฐานของการแยกออกจากกันระหว่างการผลิตและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งแสดงให้เห็นเสถียรภาพของการปล่อยก๊าซฯ แม้จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นก็ตาม ในอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมสิ่งทอและยาเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ โดยผู้ก่อมลพิษที่รุนแรงที่สุดอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ภาคเหมืองแร่และสาธารณูปโภคยังคงมีส่วนอย่างมากในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) โดยถ่านหินเป็นตัวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคส่วนนี้

ในด้านลบ แนวโน้มการแยกออกจากกันปรากฏชัดเจนระหว่างการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการจ้างงาน การเติบโตของผลผลิตการผลิตทั่วโลกไม่ได้แปลว่าการสร้างงานเพิ่มขึ้นตามสัดส่วน สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้นคือการจ้างงานสตรีในภาคการผลิตมีแนวโน้มลดลง ซึ่งยิ่งเลวร้ายลงอีกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

รายงานดังกล่าวเน้นย้ำถึงแนวโน้มการพัฒนาระดับโลกอื่น ๆ ในปัจจุบัน เช่น การปรับสมดุลการผลิตจากประเทศที่มีรายได้สูงไปสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และจากอเมริกาเหนือและยุโรปไปสู่เอเชียและโอเชียเนีย

นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูงและสูงปานกลาง (medium high- and high-technology: MHT) ฟื้นตัวเร็วขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19 และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับล่างหยุดชะงัก ทิศทางที่สวนทางกันนี้ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นระหว่างประเทศที่เชี่ยวชาญในภาคเทคโนโลยีขั้นสูงและประเทศอื่น ๆ โดยเรียกร้องให้มีความพยายามมากขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าภูมิทัศน์ทางเทคโนโลยีมีความเท่าเทียมมากขึ้น

รายงานประจำปีฉบับนี้มีบทเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสถิตินวัตกรรม ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่และกระบวนการผลิตดิจิทัลขั้นสูงซึ่งมีต้นกำเนิดจากนวัตกรรมถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่จำเป็นในบริบทของการเปลี่ยนผ่านสีเขียวและดิจิทัลยังขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์และกระบวนการที่เป็นนวัตกรรมอีกด้วย นวัตกรรมจึงถือเป็นเป้าหมายการพัฒนา

มีตัวชี้วัดมากมายที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแง่มุมต่าง ๆ ของนวัตกรรม ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายรวมด้านการวิจัยและพัฒนา (gross expenditure on R&D: GERD) บ่งบอกถึงจำนวนเงินโดยรวมที่เศรษฐกิจทุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม

รายงานพบว่าในเอเชียตะวันออก ยุโรป และอเมริกาเหนือ มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาค่อนข้างสูง และมีความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างการวิจัยและพัฒนากับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าประเทศที่มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่สูงกว่ามักจะได้รับผลลัพธ์ที่ดีกว่าในแง่ของประสิทธิภาพทางอุตสาหกรรม

การค้นพบที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ ในขณะที่ในปี 2543 (ค.ศ. 2000) สิทธิบัตร 84.1% ของสิทธิบัตรทั้งหมดมาจากประเทศอุตสาหกรรมที่มีรายได้สูง ภายในปี 2565 (ค.ศ. 2022) 54.3% ได้รับการจดทะเบียนโดยประเทศอุตสาหกรรมที่มีรายได้ปานกลาง โดยสิทธิบัตรกระจุกตัวมากขึ้นในเอเชียและโอเชียเนีย ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้ต่ำ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.3% ของการยื่นขอรับสิทธิบัตรทั้งหมด

การลงทุนเพิ่มเติมสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อวัดอุบัติการณ์ แรงผลักดัน อุปสรรค และผลกระทบของนวัตกรรมทางอุตสาหกรรมอย่างครบถ้วน และเพื่อให้ข้อมูลที่สำคัญในการชี้แนะนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและนโยบายอุตสาหกรรมเพื่อความสำเร็จของ SDGs

อ้างอิง

https://www.unido.org/news/international-yearbook-industrial-statistics-2023-insights-trends-and-challenges-sustainable-industrial-development

รายงานฉบับเต็ม

https://www.unido.org/sites/default/files/unido-publications/2023-12/UNIDO_IndustrialStatistics_Yearbook_2023.pdf