• การทบทวนสถานการณ์และการดำเนินการระดับโลก (Global Stocktake) ขององค์การสหประชาชาติก่อนการประชุม COP28 แสดงให้เห็นว่า คำมั่นระดับชาติที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกยังคงไม่เพียงพอที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามข้อตกลงปารีสได้
  • สำนักเลขาธิการขององค์การการค้าโลกได้เปิดตัวชุดเครื่องมือนโยบายการค้าเพื่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ “Trade Policy Tools for Climate Action” 10 ประการ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลต่าง ๆ ในการบรรลุเป้าหมายสภาพภูมิอากาศ

ในการประชุม COP28 สำนักเลขาธิการขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ได้เปิดตัวชุดเครื่องมือนโยบายการค้าเพื่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ “Trade Policy Tools for Climate Action” โดยเน้นการดำเนินการตามนโยบายการค้า 10 ประการ ที่อ้างอิงจากการวิจัยของสำนักเลขาธิการและสิ่งที่สมาชิก WTO จำนวนมากกำลังดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อนำเสนอแก่รัฐบาลต่าง ๆ ในการบรรลุเป้าหมายสภาพภูมิอากาศ

ชุดเครื่องมือเป็นแหล่งข้อมูลและเป็นแรงบันดาลใจที่เป็นไปได้สำหรับผู้กำหนดนโยบาย มีรายละเอียดในการผนวกนโยบายการค้า (เช่น การทบทวนอัตราภาษีนำเข้าสินค้าคาร์บอนต่ำ) เข้ากับยุทธศาสตร์ระดับชาติที่สามารถช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์

“Trade Policy Tools for Climate Action” 10 ประการ มีรายละเอียดดังนี้

  1. ใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนศุลกากรชายแดนที่ยุ่งยาก
  2. การปรับใช้นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  3. การใช้มาตรฐานสากลเพื่อหลีกเลี่ยงการกระจายตัวของนโยบายเมื่อมีการปรับปรุงกฎระเบียบด้านประสิทธิภาพพลังงาน
  4. การทบทวนกฎระเบียบและข้อจำกัดของผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเพื่อสนับสนุนความพยายามในการบรรเทาและปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ
  5. ปรับสมดุลอัตราภาษีนำเข้าเพื่อเพิ่มการใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ
  6. การปฏิรูปเงินอุดหนุนที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อปลดล็อคการใช้ทรัพยากรเพิ่มเติมสำหรับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ
  7. อำนวยความสะดวกและเพิ่มธุรกรรมสินเชื่อทางการค้า (trade finance) เพื่อรองรับการแพร่กระจายของเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ
  8. ปรับปรุงวิธีที่ตลาดอาหารและการเกษตรทำงาน เพื่อสนับสนุนการปรับตัวและการบรรเทาผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศโดยการผ่อนคลายการค้าอาหาร
  9. เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (sanitary and phytosanitary systems) เพื่อปกป้องเศรษฐกิจจากการแพร่กระจายของโรค แมลงศัตรูพืช และความเสี่ยงอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  10. ปรับปรุงการประสานกันด้านภาษีภายในที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ การกำหนดราคาคาร์บอนและนโยบายต่าง ๆ ที่เทียบเท่า เพื่อลดการกระจายตัวของนโยบายและลดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ

นาง Ngozi Okonjo-Iweala ผู้อำนวยการใหญ่ WTO กล่าวในคำนำของรายงานว่า “การทบทวนสถานการณ์และการดำเนินการระดับโลก (Global Stocktake) ที่เชื่อถือได้ขององค์การสหประชาชาติ ก่อนการประชุม COP28 ได้แสดงให้เห็นว่า คำมั่นระดับชาติที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกยังคงไม่เพียงพอที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ได้ ในเอกสารเผยแพร่นี้ สำนักเลขาธิการ WTO สำรวจเครื่องมือนโยบายการค้า 10 ประการที่สามารถเร่งไปสู่เป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ แต่ละองค์ประกอบสามารถบูรณาการเข้ากับการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP) ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจต่างหาทางที่จะเพิ่มความทะเยอทะยานของกลยุทธ์ด้านสภาพภูมิอากาศของตนให้มากขึ้น ชุดเครื่องมือนี้ต่อยอดจากงานวิจัยของสำนักเลขาธิการเพื่อให้ความกระจ่างเกี่ยวกับวิธีที่นโยบายการค้าและการค้าสามารถช่วยเร่งและขยายผลของการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อประโยชน์ของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต บทเรียนนั้นชัดเจน: หากปราศจากห่วงโซ่อุปทานแบบบูรณาการระดับโลกแล้ว การไปถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษนี้จะมีราคาแพงขึ้นมาก

ในเอกสารเผยแพร่ได้ตั้งข้อสังเกตประเด็นอัตราภาษีนำเข้าว่า น้ำมันดิบและถ่านหินจะมีภาษีเฉลี่ยที่ร้อยละ 0.8 และ 1.6 ตามลำดับ ในขณะที่อุปกรณ์ด้านพลังงานหมุนเวียนมีภาษีเฉลี่ยที่ร้อยละ 3.2 โดยบางประเทศคิดอัตราภาษีสูงถึงร้อยละ 12 ซึ่งภาษีนำเข้าสามารถนำมาทบทวนใหม่เพื่อให้มีราคาที่สามารถจ่ายได้และส่งเสริมการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ สมาชิกของ WTO อย่างน้อย 30 ประเทศจากทุกภูมิภาคและทุกระดับของการพัฒนาได้ใช้การลดภาษีเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนยานยนต์ไฟฟ้าและคาร์บอนต่ำ

ในส่วนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ยังมีข้อสังเกตอีกว่ารัฐบาลใช้จ่ายเงินถึง 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะและนี่เป็นความรับผิดชอบโดยตรงและโดยอ้อมต่อการปล่อยก๊าซเรือนจกร้อยละ 15 การนำเกณฑ์ที่คำนึงถึงความอ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศมาใช้ ในขณะเดียวกันก็เปิดตลาดสาธารณะสำหรับซัพพลายเออร์ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมาก จากฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของ WTO ได้เผยว่าสมาชิกของ WTO ได้แจ้งให้ WTO ทราบเกี่ยวกับมาตรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมกว่า 70 มาตรการนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา

อ้างอิง

https://www.wto.org/english/news_e/news23_e/publ_02dec23_e.htm

Trade Policy Tools for Climate Action

https://www.wto.org/english/res_e/publications_e/tptforclimataction_e.htm