• ตลาดแบตเตอรี่ทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 800 ในเวลาเพียง 5 ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในยุโรป
  • ความพยายามลดการพึ่งพาผู้ผลิตแบตเตอรี่และซัพพลายเออร์วัตถุดิบจากจีน เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของยุโรป
  • มีการคาดการณ์ว่าจะมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ Li-ion ใหม่เกิดขึ้นอีกกว่า 250 แห่งทั่วยุโรป ทั้งจากผู้ผลิตแบตเตอรี่และจากซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

จากการวิเคราะห์ของ Buck Consultants International บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติเนเธอร์แลนด์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่การผลิต คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีโรงงานแบตเตอรี่ Li-ion ใหม่อีกประมาณ 250 แห่งทั่วยุโรป โดยตลาดแบตเตอรี่ทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 800 ในเวลาเพียง 5 ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในยุโรป

โรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่ตั้งขึ้นใหม่จะผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Li-ion) เป็นส่วนใหญ่ เพื่อเป็นการรองรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยผลักดันให้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้รับความนิยมไปทั่วโลก โดยผู้บริโภคให้ความสนใจรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นและรัฐบาลก็ผลักดันให้ EV มาแทนที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ความพยายามลดการพึ่งพาผู้ผลิตแบตเตอรี่ของจีนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของยุโรป

นาย René Buck ซีอีโอ ของ Buck Consultants International กล่าวว่า “เนื่องจากความทะเยอทะยานด้านรถยนต์ไฟฟ้าของยุโรปกับกำลังการผลิตแบตเตอรี่ในปัจจุบันไม่มีความสอดคล้องกันอย่างมาก ดังนั้น จึงคาดว่าจะมีโรงงานการผลิตแบตเตอรี่ใหม่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่จากผู้ผลิตแบตเตอรี่เอง เช่น CATL, BYD, LG และ Panasonic เท่านั้น แต่ยังมาจากซัพพลายเออร์ของผู้ผลิตด้วย เช่น ผู้ผลิตขั้วแอโนด (anodes) ขั้วแคโทด (cathodes) แผ่นกั้นในแบตเตอรี่ (separators) และระบบการจัดการแบตเตอรี่ด้วย”

สหภาพยุโรปได้เห็นชอบกรอบการลงทุนเพื่อความยั่งยืนที่เรียกว่า IPCEI (Important Project of Common European Interest) ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2018 และอีกครั้งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่ง IPCEI ได้รับการออกแบบเพื่อจูงใจ (ในส่วนของ) ให้บริษัทแบตเตอรี่มาตั้งอยู่ในสหภาพยุโรป โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างห่วงโซ่มูลค่าแบตเตอรี่ที่สามารถแข่งขันได้และยั่งยืนในสหภาพยุโรป นั่นได้ทำให้ถูกมองว่ากรอบการลงทุนฯ ดังกล่าวเป็นการตอบสนองต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ของสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ การหมุนเวียนในภาคส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าของยุโรป จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่ Li-ion ที่รวมเข้าด้วยกันมาตั้งอยู่ใกล้แหล่งผลิตมากขึ้น และลดการพึ่งพาซัพพลายเออร์วัตถุดิบจากแบตเตอรี่ของจีนและอเมริกาใต้

ลิเทียมซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของเซลล์แบตเตอรี่ Li-ion สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และพบว่าทั่วโลกมีความต้องการลิเทียมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและอาจเกิดการขาดแคลนขึ้นได้ ในบางครั้งลิเทียมจะถูกเรียกว่า ‘ทองคำขาว’ ได้ถูกขุดสกัดในหลายประเทศทั่วโลก แต่ความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นได้นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชาติตะวันตกกับซัพพลายเออร์รายใหญ่ เช่น จีน

การรีไซเคิลลิเทียมจากแบตเตอรี่เก่าก็มีแนวโน้มที่จะได้รับความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น กระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกาเพิ่งลงทุน 2 ล้านเหรียญสหรัฐในโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ Li-ion ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาและโซลูชันที่ใช้ได้จริงที่มีมูลค่ารวมประมาณ 192 ล้านเหรียญสหรัฐ

นาย Eric Mekenkamp ที่ปรึกษาหลักของ Buck Consultants International กล่าวว่า “แผนธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ว่าภูมิภาคนี้ได้ให้อะไรกับภาคส่วนต่างๆ ในทั้งห่วงโซ่คุณค่า แผนดังกล่าวควรรวมถึงความเป็นไปได้ในการร่วมมือทางเทคโนโลยีกับมหาวิทยาลัย การวิเคราะห์ตลาดแรงงานที่เป็นจริง ภาพรวมของโรงงานขนาดเล็กและขนาดใหญ่สำหรับนักลงทุนที่มีศักยภาพ และแผนการตลาดที่จัดทำขึ้นเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย”

อ้างอิง

https://www.consultancy.eu/news/9103/europe-to-see-250-new-li-ion-battery-plants-in-next-10-years