• เสื้อผ้าสำเร็จรูปจำนวน 15 – 45 พันล้านชิ้น จากที่ผลิตได้ประมาณ 150 พันล้านชิ้นต่อปี เป็นเสื้อผ้าที่จำหน่ายไม่ได้หรือไม่ได้สวมใส่ และมักจบลงที่หลุมฝังกลบหรือถูกนำไปเผาทิ้ง เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเที่ยวบินประมาณ 500 ล้านเที่ยวบินต่อปีสำหรับเสื้อผ้าแต่ละประเภท
  • การเปลี่ยนแปลงไปใช้รูปแบบการวางแผนและซื้อตามข้อมูลและความต้องการ สามารถลดการผลิตมากเกินไปได้ตั้งแต่ร้อยละ 5 – 15 ซึ่งจะช่วยขจัดแหล่งที่มาสำคัญของขยะส่วนเกินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณร้อยละ 3
  • วิธีการที่ช่วยลดการผลิตมากเกินไป ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะประกอบการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการวางแผนแบบเรียลไทม์ที่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค

อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายได้รับความเดือดร้อนจากการผลิตมากเกินไปในแต่ละปีที่อัตราร้อยละ 10 – 40 การผลิตมากเกินไปอย่างล้นหลามนี้ก่อให้เกิดปัญหาขยะปริมาณมาก ซึ่งหากได้รับการแก้ไขก็จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 3

ถึงแม้จะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายก็ยังคงล้มเหลวในการหลีกเลี่ยงอัตราการผลิตที่สูงเกินไปได้ ปัญหาดังกล่าวยังคงเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจและเป็นภาระอันใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น ข่าวเกี่ยวกับการทิ้งขยะ “เสื้อผ้าแฟชั่นราคาถูกที่ถูกผลิตออกมาอย่างรวดเร็ว” (Fast fashion) ในประเทศชิลี ทำให้เกิดความไม่พอใจไปทั่วโลก เนื่องจากสาธารณชนเริ่มตระหนักถึงผลกระทบเชิงลบที่อุตสาหกรรมมีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ

จากรายงานของบริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ของอังกฤษ OC&C Strategy Consultants ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงไปใช้รูปแบบการวางแผนและซื้อตามข้อมูลและความต้องการ สามารถลดการผลิตมากเกินไปได้ตั้งแต่ร้อยละ 5 – 15 ซึ่งจะช่วยขจัดแหล่งที่มาสำคัญของขยะส่วนเกินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการเปลี่ยนแปลงนี้อาจช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณร้อยละ 3

การปฏิรูปรูปแบบการซื้อครั้งใหญ่นี้จึงเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับทัศนะความยั่งยืนของแบรนด์ไปพร้อมกับการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างมีกำไร

แม้ว่าอุตสาหกรรมค้าปลีกดูเหมือนจะมีผลการดำเนินการค่อนข้างดี ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจโลกค่อนข้างท้าทาย โดยเฉพาะในจีนและตะวันออกกลาง แต่การปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดซื้อก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับแบรนด์ ผลกำไรและสินค้าคงคลังอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้น ทำให้จำเป็นต้องลดการซื้อมากเกินไปและการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

การจัดสรรทรัพยากรที่สูญเปล่าเหล่านี้ไปยังส่วนอื่นสามารถช่วยให้แบรนด์ต่าง ๆ ปรับปรุงรูปแบบธุรกิจด้านอื่น ๆ ของตนได้ บริษัทต่าง ๆ จะได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงอัตราการขายผ่าน (sell-through rate) การขายสินค้าได้มากขึ้นในราคาเต็ม และการปรับเปลี่ยนส่วนลด (discount) และการลดราคาขาย (mark down) ให้เหมาะสมอย่างมีกลยุทธ์ นอกจากนี้ การใช้ข้อมูลการคาดการณ์ความต้องการจะช่วยให้แบรนด์สามารถตัดสินใจได้อย่างมั่นใจเมื่อปรับเปลี่ยนปริมาณของสายผลิตภัณฑ์ที่เฉพาะเจาะจง ทำให้พวกเขาสามารถซื้อได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

แต่การผลิตมากเกินไป ไม่เพียงแต่จะไม่มีประสิทธิภาพในเชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบสำคัญต่อวาระความยั่งยืนของบริษัทอีกด้วย ซึ่งถูกมองว่าเป็นความจำเป็นเชิงกลยุทธ์และค่านิยมหลักในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG)

เพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงปารีสขององค์การสหประชาชาติ อุตสาหกรรมแฟชั่นจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึงร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับระดับในปี 2562 อย่างไรก็ตาม เสื้อผ้าสำเร็จรูปจำนวนมาก คิดเป็นจำนวน 15 – 45 พันล้านชิ้น จากที่ผลิตได้ประมาณ 150 พันล้านชิ้นต่อปี เป็นเสื้อผ้าที่จำหน่ายไม่ได้หรือไม่ได้สวมใส่ และมักจบลงที่หลุมฝังกลบหรือถูกนำไปเผาทิ้ง สิ่งนี้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเที่ยวบินประมาณ 500 ล้านเที่ยวบินต่อปีสำหรับเสื้อผ้าแต่ละประเภท

ในรายงานฯ ยังได้นำเสนอวิธีต่าง ๆ ในการลดการผลิตมากเกินไป รวมถึงการเพิ่มการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะที่สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผู้เขียนรายงานกล่าวว่า “ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและความซับซ้อนกำลังผลักดันความต้องการในการเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตให้มากขึ้น เทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปลดล็อค ‘ทำมากขึ้นด้วยการใช้น้อยลง’”

ข้อเสนออีกประการหนึ่ง คือ ให้บริษัทต่าง ๆ ใช้การวางแผนแบบเรียลไทม์ที่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคได้ดีขึ้น โดยดำเนินการไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสแฟชั่นจาก fast fashion ไปสู่กระแสแฟชั่นที่ปรับเปลี่ยนช้าลงและยั่งยืนมากขึ้น รายงานยังระบุเพิ่มเติมว่า “การเปลี่ยนไปสู่การลดการซื้อที่บ่อยครั้งขึ้นเชื่อมโยงโดยตรงกับความต้องการที่ตอบสนองต่อกระแสแฟชั่นได้ดีขึ้น การจัดการของเสีย การคุ้มครองกระแสเงินสด และการลดลงของการลดราคาขาย”

อ้างอิง

https://www.consultancy.eu/news/9175/clothing-industry-can-cut-emissions-by-3-by-reducing-overproduction