• คณะกรรมาธิการยุโรปให้การรับรองมาตรการที่จำกัดการเติมไมโครพลาสติกโดยเจตนาในผลิตภัณฑ์ภายใต้กฎระเบียบว่าด้วยสารเคมีของสหภาพยุโรป “REACH”
  • มาตรการใหม่นี้ครอบคลุมถึงอนุภาคโพลีเมอร์สังเคราะห์ทั้งหมดที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ที่เป็นสารอินทรีย์ ไม่ละลายน้ำ และทนต่อการย่อยสลาย โดยจะป้องกันการรั่วไหลของไมโครพลาสติกประมาณครึ่งล้านตันออกสู่สิ่งแวดล้อม
  • ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตมาตรการจำกัด ได้แก่ วัสดุเติมแบบละเอียด (granular infill material) เครื่องสำอางที่เติมไมโครพลาสติก ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม กลิตเตอร์ (glitter) ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์อารักขาพืช (plant protection products) ของเล่น ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่น ๆ

คณะกรรมาธิการยุโรป มีความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับมลพิษจากไมโครพลาสติก ตามที่ระบุไว้ใน European Green Deal และแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Action Plan) ฉบับใหม่ โดยในแผนปฏิบัติการมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Pollution Action Plan) คณะกรรมาธิการฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดมลพิษจากไมโครพลาสติกลงร้อยละ 30 ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030)

ส่วนหนึ่งของความพยายามเหล่านี้ คณะกรรมาธิการฯ กำลังทำงานเพื่อลดมลพิษของไมโครพลาสติกจากแหล่งต่าง ๆ ได้แก่ ขยะพลาสติกและขยะมูลฝอย การปล่อยไมโครพลาสติกแบบไม่ได้เจตนาหรือโดยอุบัติเหตุ (เช่น การสูญเสียเม็ดพลาสติก การเสื่อมของยางรถยนต์ หรือการปล่อยจากเสื้อผ้า) รวมถึงการใช้งานไมโครพลาสติกในผลิตภัณฑ์โดยเจตนา

ไมโครพลาสติกไม่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพและไม่สามารถกำจัดออกได้เมื่อปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมแล้ว โดยจะพบได้ทั้งในระบบนิเวศทางทะเล น้ำจืด และบนบก รวมถึงในอาหารและน้ำดื่ม การศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าการสัมผัสกับไมโครพลาสติกมีผลเสียต่อสิ่งมีชีวิต

เพื่อจัดการกับมลพิษของไมโครพลาสติกในขณะที่ต้องป้องกันความเสี่ยงของการแบ่งเป็นส่วนย่อย ๆ (fragmentation) ของตลาดเดียว (EU Single Market) คณะกรรมาธิการฯ ได้เรียกร้องให้ European Chemicals Agency (ECHA) ประเมินความเสี่ยงที่เกิดจากการเติมไมโครพลาสติกลงในผลิตภัณฑ์โดยเจตนา และจำเป็นต้องการดำเนินการด้านกฎระเบียบเพิ่มเติมในระดับสหภาพยุโรปหรือไม่ ซึ่ง ECHA ได้สรุปผลว่า ไมโครพลาสติกที่เติมลงในผลิตภัณฑ์บางชนิดโดยเจตนา จะถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมในลักษณะที่ไม่สามารถควบคุมได้ และแนะนำให้จำกัดการใช้ไมโครพลาสติกในผลิตภัณฑ์เหล่านั้น

จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่นำเสนอโดย ECHA ทำให้คณะกรรมาธิการฯ ได้ยกร่างข้อเสนอมาตรการจำกัดภายใต้ REACH ขึ้นมา ซึ่งก็ได้รับคะแนนสนับสนุนโดยประเทศในสหภาพยุโรป และผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดของรัฐสภายุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปก่อนที่คณะกรรมาธิการฯ จะให้การรับรอง

มาตรการที่จำกัดการเติมไมโครพลาสติกโดยเจตนาในผลิตภัณฑ์อยู่ภายใต้กฎระเบียบว่าด้วยสารเคมีของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการจดทะเบียน การประเมิน การอนุญาต และการห้ามหรือจำกัดการผลิตหรือการใช้สารเคมี REACH (Regulation (EC) No 1907/2006 Concerning the Registration, Evaluation, Authorization, and Restriction of Chemicals: REACH) มาตรการใหม่นี้จะป้องกันการรั่วไหลของไมโครพลาสติกประมาณครึ่งล้านตันออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยจะห้ามการจำหน่ายไมโครพลาสติกดังกล่าวและผลิตภัณฑ์ที่มีการเติมไมโครพลาสติกโดยเจตนาซึ่งจะทำให้เกิดการรั่วไหลของไมโครพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อมเมื่อถูกใช้งาน การยกเว้นหรือผ่อนปรนมาตรการ (derogation) และช่วงเปลี่ยนผ่าน (transition period) สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับกฎใหม่ จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุผลอันสมควร

Credit: Flickr (Oregon State University)

มาตรการจำกัดที่รับรองนั้นใช้คำจำกัดความกว้าง ๆ ของไมโครพลาสติก โดยครอบคลุมถึงอนุภาคโพลีเมอร์สังเคราะห์ทั้งหมดที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ที่เป็นสารอินทรีย์ ไม่ละลายน้ำ และทนต่อการย่อยสลาย จุดประสงค์เพื่อลดการปล่อยไมโครพลาสติกโดยเจตนาจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ทั่วไปบางส่วนที่อยู่ภายใต้ขอบเขตมาตรการจำกัด ได้แก่

  • วัสดุเติมแบบละเอียด (granular infill material) ที่ใช้บนพื้นสนามกีฬาสังเคราะห์ ซึ่งเป็นแหล่งไมโครพลาสติกโดยเจตนาที่ใหญ่ที่สุดในสิ่งแวดล้อม
  • เครื่องสำอางที่เติมไมโครพลาสติกเพื่อวัตถุประสงค์หลายประการ เช่น การขัดผิวด้วยไมโครบีดส์ (microbeads) หรือเพื่อให้ได้เนื้อสัมผัส กลิ่นหอม หรือสีที่เฉพาะเจาะจง
  • ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม กลิตเตอร์ (glitter) ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์อารักขาพืช (plant protection products) ของเล่น ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่น ๆ อีกมากมาย
Credit: https://proteinblog.jbtc.com/2022/07/26/minimizing-microplastics-in-the-food-processing-line/

ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในไซต์งานอุตสาหกรรมหรือไม่ได้มีการปล่อยไมโครพลาสติกระหว่างการใช้งานจะได้รับการยกเว้นจากการห้ามจำหน่าย แต่ผู้ผลิตจะต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้และกำจัดผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันการปล่อยไมโครพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม

มาตรการแรก เช่น การห้ามใช้กลิตเตอร์แบบฝุ่น (loose glitter) และไมโครบีดส์ จะเริ่มบังคับใช้เมื่อข้อจำกัดนี้มีผลบังคับใช้ภายใน 20 วัน ในกรณีอื่นการห้ามจำหน่ายจะมีผลบังคับใช้หลังจากผ่านไประยะเวลาหนึ่งเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบมีเวลาในการพัฒนาหรือเปลี่ยนไปใช้ทางเลือกอื่น

อ้างอิง