• ตามการวิจัยของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) รายงานว่า มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีคาร์บอนสูง คาดว่าจะมีผลกระทบอย่างจำกัดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเอเชียและแปซิฟิกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
  • CBAM คาดว่าจะลดการค้าโลกและการส่งออกของเอเชียไปยังสหภาพยุโรป โดยเฉพาะเอเชียกลางและเอเชียตะวันตกจะได้รับผลกระทบมากกว่าภูมิภาคอื่น รวมทั้งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสหภาพยุโรป แต่เพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภูมิภาคอื่น ๆ แทน

มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (EU’s Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งกำหนดมีผลบังคับใช้ในปี 2569 (ค.ศ. 2026) โดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มาจากกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ และไฟฟ้า ค่าธรรมเนียมดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อลด “การรั่วไหลของคาร์บอน” ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ก่อมลพิษย้ายการผลิตจากประเทศที่มีกฎระเบียบที่เข้มงวดหรือราคาคาร์บอนสูง ไปยังประเทศที่มีกฎระเบียบที่เข้มงวดน้อยกว่าหรือมีราคาคาร์บอนต่ำกว่า

อย่างไรก็ตาม CBAM มีแนวโน้มที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกลงน้อยกว่า 0.2% เมื่อเทียบกับโครงการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS) ที่มีราคาคาร์บอน 100 ยูโร ($108) ต่อเมตริกตัน และไม่มีภาษีคาร์บอน ตามรายงาน “Asian Economic Integration Report (AEIR) 2024” โดย ADB  ยังระบุว่าค่าธรรมเนียมดังกล่าวอาจลดการส่งออกทั่วโลกไปยังสหภาพยุโรปประมาณ 0.4% และลดการส่งออกของเอเชียไปยังสหภาพยุโรปประมาณ 1.1% ในขณะที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตของผู้ผลิตบางรายในสหภาพยุโรป

Albert Park หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ (Chief Economist) ของ ADB กล่าวว่า “ความคิดริเริ่มการกำหนดราคาคาร์บอนที่มีลักษณะการแยกกระจายเป็นส่วน ๆ ในแง่ของภาคส่วนอุตสาหกรรมและพื้นที่ที่ครอบคลุม ซึ่งรวมถึง CBAM นั้น จะช่วยจำกัดการรั่วไหลของคาร์บอนได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ดังนั้น เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญและในขณะเดียวกันก็ทำให้แน่ใจว่าความพยายามด้านสภาพภูมิอากาศมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น ความคิดริเริ่มด้านการกำหนดราคาคาร์บอนจำเป็นต้องขยายขอบเขตไปยังภูมิภาคอื่น ๆ นอกสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในเอเชีย”

อนุภูมิภาคเอเชียที่มีส่วนแบ่งการส่งออกสินค้าคาร์บอนสูงไปยังสหภาพยุโรป โดยเฉพาะเอเชียกลางและเอเชียตะวันตก จะได้รับผลกระทบทางลบจาก CBAM และระบบการซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรปมากกว่าภูมิภาคอื่น เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่คาดว่าจะส่งผลแตกต่างในแต่ละภาคส่วน (distributional impacts) โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย มาตรการจูงใจที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยส่งเสริมให้มีการนำกลไกการกำหนดราคาคาร์บอนมาใช้อย่างแพร่หลาย

ผลกระทบของ CBAM ต่อภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

รูปที่ 1: CBAM ของสหภาพยุโรปจะมีผลกระทบอย่างจำกัดต่อ GDP ของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย (% การเปลี่ยนแปลงของ GDP)

รูปที่ 2: CBAM คาดว่าจะลดการค้าโลกและการส่งออกของเอเชียไปยังสหภาพยุโรป (% การเปลี่ยนแปลงของ การส่งออกไปยังสหภาพยุโรป)

รูปที่ 3: CBAM (และ ETS) จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสหภาพยุโรปและประเทศกลุ่ม OECD ในยุโรป แต่จะเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภูมิภาคอื่น ๆ (% การเปลี่ยนแปลงล้านเมตริกตันของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์)

อ้างอิง

https://www.adb.org/news/eu-carbon-tariff-likely-have-limited-impact-emissions-without-global-efforts