บทนำ
เศรษฐกิจคือ “งานอันเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่ายจ่ายแจก และการบริโภคใช้สอยสิ่งต่าง ๆ ของชุมชน”[1] ซึ่งตามคำนิยามแล้วเศรษฐกิจในความหมายดังกล่าวเป็นการใช้ทรัพยากรในทิศทางเดียว (one-way consumption) ที่ให้ความสำคัญกับการผลิตหรือสกัดทรัพยากรเพื่อนำมาจ่ายแจก จำหน่าย และมาใช้ประโยชน์ กรอบดังกล่าวไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียหรือกากที่เกิดขึ้นจากการบริโภค หรือการนำกากและของเสียมาใช้ประโยชน์ในทางใดทางหนึ่งอีกครั้ง
รูปแบบเศรษฐกิจที่ได้กล่าวถึงคงจะดำเนินต่อไป หากข้อจำกัดในด้านปริมาณทรัพยากรธรรมชาติและผลกระทบจากของเสียที่เกิดขึ้นจากการบริโภคไม่ทวีความรุนแรงขึ้น ปัญหาสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง ของเสียเป็นพิษ และการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ปัจจัยที่ทำให้เกิดการทบทวนรูปแบบเศรษฐกิจที่เป็นไปในปัจจุบัน
รูปที่ 1 แผนผังเศรษฐกิจที่ใช้ใช้ทรัพยากรในทิศทางเดียว (one-way consumption)

หลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน
เศรษฐกิจหมุนเวียนคือเศรษฐกิจที่คุณค่าของวัตถุดิบ ทรัพยากรและผลิตภัณฑ์ได้รับการรักษาให้คงไว้ให้นานที่สุดและมีการสร้างของเสียที่ต่ำที่สุด ซึ่งตามความหมายนี้แล้วระบบเศรษฐกิจที่มีความหมุนเวียนจะมีคุณสมบัติที่สามารถพื้นคืนและกลับสู่สภาพเดิม และสามารถคงภาคส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ภายในระบบให้มีคุณภาพและคุณค่าสูงสุด
รูปที่ 2 แผนผังเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

เศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งอยู่บน 3 หลักการ ได้แก่
- หลักการที่ 1 การรักษาและเสริมทุนด้านธรรมชาติ (natural capital) ผ่านการจัดการ ควบคุมทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด โดยเริ่มจากการสร้างประโยชน์หรือคุณค่าของทรัพยากรในทุกโอกาสที่สามารถทำได้ การจัดการระบบหมุนเวียนของทรัพยากรจะนำไปสู่การเลือกการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด ผ่านการดำเนินการโดยใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ การที่ใช้พลังงานทดแทน รวมทั้งการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ เศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยเสริมสร้างทุนด้านธรรมชาติ จากการจัดการการไหลเวียนของทรัพยากรในระบบและการสร้างเงื่อนไขที่เหมาะสมต่อการฟื้นคืนสภาพของทรัพยากร เช่น คุณภาพของดิน
- หลักการที่ 2 การใช้ประโยชน์ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการหมุนเวียนผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ และวัตถุต่าง ๆ ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งทั้งนี้จะนำไปสู่การออกแบบการแปรรูปทรัพยากรหลังจากที่ทรัพยากรผ่านการใช้งาน (remanufacturing) การซ่อมแซม (refurbishing) และการนำมาใช้อีกครั้ง (recycling) เพื่อคงการหมุนเวียนของส่วนประกอบและวัตถุต่าง ๆ ภายในเศรษฐกิจ
- หลักการที่ 3 การรักษาประสิทธิภาพของระบบ ผ่านการออกแบบเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบ (negative externalities) จากผลิตภัณฑ์ หลักการดังกล่าวครอบคลุม ทั้ง 1) การลดผลกระทบด้านลบต่าง ๆ ต่อ human utility เช่น อาหาร การคมนาคม ที่อยู่อาศัย การศึกษา และสุขภาพ และ 2) การจัดการผลกระทบด้านลบต่าง ๆ ที่มาจากการใช้ทรัพยากร เช่น การใช้ที่ดิน อากาศ น้ำ มลภาวะทางเสียง และการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ
คุณลักษณะหลักของเศรษฐกิจหมุนเวียน
- การออกแบบเพื่อลดของเสีย
ของเสียจะไม่เกิดขึ้นหากส่วนประกอบด้านชีวภาพและเทคนิคของผลิตภัณฑ์นั้นได้รับการออกแบบเพื่อให้เข้ากับห่วงโซ่ชีวภาพหรือห่วงโซ่เทคนิค วัตถุชีวภาพจะต้องไม่มีสารพิษ ย่อยสลายได้ง่าย ส่วนผลิตภัณฑ์ทางเทคนิคเช่น โพลีเมอร อัลลอย หรือวัสดุประดิษฐ์อื่น ๆ จะต้องถูกออกแบบให้สามารถนำมาใช้ได้อีกครั้งโดยใช้พลังงานน้อยที่สุดและสามารถคงคุณภาพเดิมได้มากที่สุด เพราะโดยปกติแล้วกระบวนการ Recycle จะลดคุณภาพของวัสดุลง รวมทั้งส่งผล กระทบต่อกระบวนการการหมุนเวียนทรัพยากร
- การสร้างความยืดหยุ่น (resilience) ผ่านความหลากหลาย (diversity)
คุณสมบัติการแยกส่วน (modularity) ความสามารถรอบตัว (versatility) และความสามารถในการปรับตัวเป็นลักษณะเด่นที่มีความสำคัญในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ระบบที่มีความหลากหลายและการเชื่อมต่อจำนวนมากจะมีความยืดหยุ่นที่สูงกว่าเมื่อเกิดการกระทบ (shocks) จากภายนอก เมื่อเทียบกับระบบที่เรียบง่าย เน้นการสร้างประสิทธิภาพแต่มีความเปราะบางที่สูง (simply system, through put maximisation driven to the extreme results in fragility)
- มุ่งใช้พลังงานทดแทน
ระบบต่าง ๆ ควรจะมุ่งใช้พลังงานทดแทน และมุ่งลดระดับพลังงานที่ต้องใช้ในการคืนสภาพรวมทั้งการหมุนเวียนเศรษฐกิจ ระบบการผลิตของภาคเกษตรกรรมนั้นตั้งอยู่บนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แต่ก็มีการใช้ปุ๋ย การใช้เครื่องยนต์และเครื่องจักรในขั้นตอนต่าง ๆ ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่สูงเช่นกัน การสร้างระบบอาการและกสิกรรมที่รวมศูนย์จะช่วยลดความจำเป็นในการใช้พลังงานเชื้อเพลิงให้น้อยลง
- การคิดอย่างเป็นระบบ (System thinking)
ความสามารถในการเข้าใจถึงความเกี่ยวเนื่องต่อกันของส่วนต่าง ๆ และความสัมพันธ์ของระบบต่อส่วนต่าง ๆ มีความสำคัญ การพิจารณาสสารต่าง ๆ ควรจะอยู่ในบริบทของสภาพแวดล้อมและสังคม แม้ว่าเครื่องจักรต่าง ๆ จะเป็นระบบแต่ก็เป็นเพียงภาพเล็ก ๆ ที่สามารถคาดเดาได้ การคิดแบบ System thinking นั้นจะคำนึงถึงระบบต่าง ๆ ในโลกที่มีความซับซ้อน มีความ non-linear มี feedback-rich และเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน ในระบบดังกล่าวจุดเริ่มต้นที่มีความคลุมเครือ รวมกับ feedback นำไปสู่ผลที่น่าตกใจ (surprising consequences) อยู่เสมอ นอกจากนี้ ผลที่ได้รับก็อาจจะไม่มีสัดส่วนที่เทียบได้กับ input (เช่น runaway หรือ undamped feedback) ระบบดังกล่าวจึงไม่สามารถคาดเดาหรือจัดการโดยใช้รูปแบบการเติบโตแบบ linear ได้
- การคิดอย่างมีความต่อเนื่อง (think in cascade)
สำหรับวัสดุชีวภาพ ขั้นตอนที่สำคัญในการสร้างมูลค่าคือการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์และวัสดุโดยนำไปผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ในการสลายตัวทางชีวภาพไม่ว่าจะโดยธรรมชาติหรือผ่านกระบวนการหมักที่มีการควบคุมดูแล วัสดุต่าง ๆ จะถูกย่อยสลายตามขั้นตอนโดยจุลินทรีย์ เช่น แบคทีเรียหรือเชื้อราที่ดึงเอาพลังงานและสารอาหารจากคาร์โบไอเดรต ไขมันและโปรตีน ยกตัวอย่างเช่น การนำต้นไม้ไปย่อยสลายโดยขั้นตอนชีวภาพก่อนที่จะนำไปเผานั้นสามารถดึงเอาพลังงานและคุณค่าของไม้ออกมาได้มากกว่าการนำไปเผาทำลายเลย
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการผลักดัน Circular Economy
- สร้างงานและผลักดันเศรษฐกิจ
- เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากร
- ผลักดันการสร้างนวัตกรรม
- ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (เช่นปริมาณก๊าซเรือนกระจกและของเสีย)
- สร้างโอกาสให้กับรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ เช่น Chemical Leasing
ตัวอย่างการนำแนวคิด Circular Economy ไปดำเนินการ
Circular Economy Package โดย คณะกรรมาธิการยุโรป
คณะกรรมาธิการยุโรปเป็นหนึ่งในภาครัฐที่ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนารูปแบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ในปีค.ศ. 2012 คณะกรรมาธิการฯ ได้ตีพิมพ์เอกสาร Manifesto for a Resource Efficient Europe ซึ่งกล่าวถึงความสำคัญในการเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจของตนให้มีความหมุนเวียน[2] ต่อมาคณะกรรมาธิการฯ ได้จัดทำนโยบาย European environmental research and innovation policy ในปีค.ศ. 2013 หนึ่งในวาระหลักของนโยบายดังกล่าวคือการผลักดันให้มีการดำเนินการด้านนวัตกรรมและการวิจัย เพื่อผลักดันเศรษฐกิจและสังคมของสหภาพยุโรปโดยรวมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ในปีค.ศ. 2015 คณะกรรมาธิการฯ ได้นำเสนอ Circular Economy Package เป็นครั้งแรก ซึ่งประกอบด้วย 1) แผนการดำเนินการ (Action Plan) 2) รายชื่อโครงการ และ 3) ข้อเสนอการแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับของเสีย 4 ข้อ
รูปที่ 3 EU Circular Economy Package

ข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ โดยปกติแล้วนโยบายของสหภาพยุโรปในด้านดังกล่าว จะให้ความสำคัญกับการจัดการของเสีย ซึ่งเป็นเป็นภาคส่วนหลังจากการบริโภค และให้ความสำคัญต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco-design) ซึ่งเป็นภาคส่วนแรกก่อนการบริโภคน้อยว่า นโยบาย Circular Economy เป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญต่อทั้งสองภาคส่วน โดยมี Key action areas ทั้งหมด 4 ด้านด้วยกันคือ
1) การผลิต (Production) 2) การบริโภค (Consumption) 3) การจัดการของเสีย (Waste management) และ 4) การใช้วัตถุดิบรอบสอง (Secondary raw material)
รูปที่ 4 Key action areas ของ EU Circular Economy package

คณะกรรมาธิการฯ ได้ดำเนินการในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อผลักดัน Circular Economy Package อาทิเช่น จัดตั้งงบประมาณให้กว่า 650 ล้านยูโรจากกองทุน Horizon 2020 และกว่า 5.5 พันล้านยูโรจากกองทุน structural fund; มาตรการลดขยะอาหาร เช่น การพัฒนาการติดฉลาก; การพัฒนามาตรฐาน secondary raw material; การวางแผน Eco-design working plan; การทบทวนข้อบังคับที่เกี่ยวกับปุ๋ย; นโยบายที่เกี่ยวกับพลาสติก และการนำน้ำมาใช้อีกครั้ง เป็นต้น
คณะกรรมาธิการยุโรปได้เพิ่มความเข้มงวดของข้อบังคับด้านการเผาขยะและการฝังกลบ และเสนอร่างระเบียบและการทบทวนกฎหมายใน 6 หัวข้อ
- ของเสียตามกฎหมายว่าด้วยของเสียของสหภาพยุโรป (EU Waste Framework Directive 2008/98/EC)
- บรรจุภัณฑ์และของเสียจากบรรจุภัณฑ์ (Packaging and Packaging Waste Directive 94/62/EC)
- หลุมฝังกลบ (Landfill Directive 1999/31/EC)
- ยานพาหนะหมดสภาพ (End of Life Vehicles Directive 2000/53/EC)
- แบตเตอรี่ต่างๆ (Batteries and Accumulators and Waste Batteries Directive 2006/66/EU) และ
- ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (WEEE directive 2002/96/EC)
และทำการปรับเป้าหมายด้านของเสียที่เกี่ยวข้อง เช่น 1) เพิ่มสัดส่วนการ Re-use ของเสียจากเทศบาลต่างๆในสหภาพยุโรปให้เป็นร้อยละ 70 ของของเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั้งหมดภายในปีค.ศ. 2030 2) เพิ่มสัดส่วนการ Recycle บรรจุภัณฑ์ต่างๆ เป็นร้อยละ 80 ภายในปีค.ศ. 2030 และ 3) ยุติการฝังกลบของเสียที่ Recycle ได้ (Recyclable Waste) และของเสียที่ไม่เป็นของเสียอันตราย (Non-hazardous Waste) โดยสิ้นเชิง เป็นต้น
ที่มา
https://en.wikipedia.org/wiki/European_environmental_research_and_innovation_policy
http://ec.europa.eu/environment/circular-economy/pdf/seminar/1%20DG%20ENV_Circular%20Economy%20package.pdf
http://europa.eu/rapid/press-release_IP-15-6203_en.htm
http://ec.europa.eu/environment/circular-economy/index_en.htm
[1] พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
[2] “In a world with growing pressures on resources and the environment, the EU has no choice but to go for the transition to a resource-efficient and ultimately regenerative circular economy.”