ในงาน WTO Trade and Environment Week ได้มีการจัดการหารืออย่างไม่เป็นทางการปลายเปิด (open-ended informal dialogue) ในเรื่อง “Plastic Pollution and Environmentally Sustainable Plastic Trade” โดยกลุ่มประเทศที่ให้การสนับสนุนความคิดริเริ่มนี้ตั้งแต่เริ่มต้น มีดังนี้ ออสเตรเลีย บาร์เบโดส แคนาดา จีน ฟิจิและโมร็อกโก
วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากระบวนการระดับนานาชาติที่มีอยู่ให้มีความครอบคลุมมากขึ้น และเพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงความร่วมมือทางการค้าภายใต้กฎระเบียบและกลไกขององค์การการค้าโลก เพื่อส่งเสริมให้ภาคส่วนในระดับต่างๆ ทั้งระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับโลกสามารถลดมลพิษจากพลาสติกและก้าวไปสู่เศรษฐกิจพลาสติกที่หมุนเวียนและยั่งยืนมากขึ้น ผ่านการเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินการ การติดตามแนวโน้มทางการค้า การส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด การสร้างความเข้มแข็งทางนโยบาย การกำหนดขอบเขตภาพรวม การประเมินศักยภาพและการสนับสนุนเชิงเทคนิคที่จำเป็น รวมทั้งความร่วมมือในระดับนานาชาติในประเด็นนี้อีกด้วย โดยการหารือดังกล่าวจะให้ความสำคัญไปที่การเพิ่มความโปร่งใสในการค้าและนโยบายการค้าที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก ตั้งแต่ขั้นตอนแนวคิดไปจนถึงการร่างประเด็นต่างๆ
ความเห็นที่น่าสนใจ
- Zhang Xiangchen เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรจีนประจำองค์การการค้าโลก ได้เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการติดตามปัญหามลพิษจากพลาสติก และการเชื่อมโยงความคิดริเริ่มต่างๆ เพื่อให้เกิดการดำเนินการในวงกว้างและให้มั่นใจว่าองค์การการค้าโลกยังคงเป็นเวทีในการเชื่อมโยงนโยบายการค้าในศตวรรษที่ 21 ซึ่งความคิดริเริ่มเกี่ยวกับพลาสติกถือเป็นสัญญาณเชิงรูปธรรมในการเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินการขององค์การการค้าโลก
- Nazhat Shameem Khan เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรฟิจิประจำองค์การการค้าโลกและประธานของการเสวนาในครั้งนี้ ได้กล่าวว่าปัญหามลพิษจากพลาสติกถือเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งระบุถึงความจำเป็นในการส่งเสริมนโยบายให้มีความสอดคล้องกันเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
- Aik Hoe Lim ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าและสิ่งแวดล้อมขององค์การการค้าโลก ระบุว่าสมาชิกต่างๆ ได้มีการใช้กลไกของ WTO ในมาตราการการค้าที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกเพื่อเพิ่มความโปร่งใส โดยร้อยละ 80 จาก 128 ประเทศได้แจ้งต่อ WTO เป็นสมาชิกประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด และมาตรการส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบทางเทคนิคและมาตรฐานในการควบคุมสินค้าพลาสติก
- Alan Wolff รองผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก ได้ชี้ว่ามีหลายทางเลือกเกี่ยวกับความร่วมมือในระดับโลกที่สามารถดำเนินการได้โดย WTO ไม่ว่าจะเป็นการรื้อฟื้นการเจรจาว่าด้วยสินค้าสิ่งแวดล้อมเพื่อให้มีการเพิ่มการเข้าถึงพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีการจัดการขยะอย่างถูกต้อง รวมทั้งเสนอแนะให้เหล่าสมาชิกพิจารณาในเรื่องการนิยามหลักการเพื่อให้ความสอดคล้องและการมีประสิทธิภาพของนโยบายการค้าของพลาสติกและขยะพลาสติก และการติดตามนโยบาย และการใช้ Aid for trade initiate เพื่อสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติก
- Steven Stone หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรและการตลาดของ UNEP ได้อธิบายถึงการสนับสนุนของประเทศสมาชิกของ UNEP อย่างสม่ำเสมอในการดำเนินการด้านมลพิษจากพลาสติก ผ่านมติต่างๆ ใน UNEA รวมทั้งพัฒนาศักยภาพภายในประเทศต่างๆ เพื่อให้สามารถสร้างกรอบนโยบายที่สอดคล้องกันมากขึ้น
- Carolyn Deere Birkbeck นักวิจัยอาวุโสของ Graduate Institute Geneva’s Global Governance Centre เปิดเผยว่าพลาสติกได้แทรกซึมอย่างลึกซึ้งในระบบเศรษฐกิจโลก และทำให้เกิดความท้าทายในหลากหลายด้านทั้งด้านสุขภาพ การบริหารจัดการและความท้าทายอื่นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตของพลาสติก และได้อ้างถึงงานวิจัยโดย Pew Charitable Trusts ที่ได้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายในหลากหลายด้านตั้งแต่การลดการผลิตไปถึงการปรับการออกแบบสินค้าและการปรับปรุงการบริหารจัดการขยะ และได้เน้นย้ำถึงหน้าที่ของรัฐบาลในการกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมทางการค้าจะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจให้มุ่งไปในทิศทางที่ถูกต้อง
- Kimberly Botwright ผู้นำกลุ่มการค้าและการลงทุนระดับโลก สภาเศรษฐกิจโลก ได้อธิบายถึง การดำเนินงานเกี่ยวกับพลาสติกและการค้าโลก และการกำหนดนโยบายที่จะช่วยสนับสนุนไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ว่านโยบายเหล่านี้ต้องเริ่มตั้งแต่การกำหนดมาตรฐานที่สอดคล้องกันสำหรับขยะและสินค้าพลาสติกเพื่อเป็นข้อมูลที่ดีต่อตลาดพลาสติกรีไซเคิล การลงทุนในมาตรการที่เอื้อต่อพลาสติกโดยเฉพาะ การบริหารจัดการขยะพลาสติก และการปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติตามข้อกำหนดของ Basel Convention ซึ่งจะมีการดำเนินการรูปแบบสินค้าพลาสติกใหม่ตั้งแต่มกราคม 2021